แอมเนสตี้เชื่อว่าพลังของคนธรรมดาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ ผ่านการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคืองานรณรงค์ หรือ แคมเปญ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม หรือเรียกร้องกดดันให้รัฐหันมาสนใจข้อเรียกร้องของภาคประชาชน แต่งานรณรงค์ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถประสบความสำเร็จได้ในทันที แต่ต้องผ่านการวิเคราะห์ วางแผน และลองผิดลองถูก กว่าจะเกิดความชำนาญและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยเหตุนี้ แอมเนสตี้จึงจัดกิจกรรม Human Rights Geeks on Tour ตอน Campaign Recipe ที่จังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 25 ถึง 27 พฤศจิกายน เพื่อสร้างนักรณรงค์รุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 21 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยาจากหลากหลายคณะ
กิจกรรมในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน และทักษะการรณรงค์ให้กับเยาวชนในจังหวัดพะเยา รวมไปถึงเชื่อมโยงเครือข่ายผู้มีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชนภายในพื้นที่ กิจกรรมในครั้งนี้จึงมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งห้องเรียนสิทธิมนุษยชน ทักษะการวิเคราะห์ และออกแบบ งานรณรงค์ และการลงมือปฏิบัติ โดยกิจกรรมในวันแรกเน้นไปที่การปูพื้นฐานหลักการสิทธิมนุษยชน ผ่านกิจกรรม Power Walk เพื่อให้ผู้ร่วมอบรมเห็นถึงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมไปถึงหน้าที่ของรัฐในการเข้ามาช่วยส่งเสริม ป้กป้อง และเคารพสิทธิมนุษยชนของคนจากทุกความหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบทบาทสมมติที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้ลองสวมบทบาทเป็นผู้ชุมนุมต่อต้านการประชุม APEC ฝ่ายรัฐ และฝ่ายประชาชนที่สนับสนุนการประชุม APEC เพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในหัวข้อสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ และกิจกรรมปิดท้ายสำหรับวันแรกคือการเชิญนักปกป้องสิทธิในจังหวัดพะเยา 3 ท่านที่เคลื่อนไหวในประเด็น สิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของชุมชน สิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ และสิทธิทางการเมือง มาแชร์ประสบการณ์การทำงานในฐานะนักกิจกรรมและนักรณรงค์ให้กับผู้ร่วมอบรมอีกด้วย
กิจกรรมในวันที่สอง เน้นไปที่วางแผนและออกแบบงานรณรงค์ โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ต้นไม้ปัญหา (Problem tree analysis) และตัวแสดงทางสังคมและการเมืองที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่นักรณรงค์ต้องการจะเรียกร้อง โดยไฮไลท์ของกิจกรรมในวันที่สองนี้ คือการที่ให้ผู้เข้าร่วมลองออกแบบ และทดลองปฏิบัติการรณรงค์ ในโครงการเขียนเปลี่ยนโลก (Write for Rights) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับกรณีของ ยีเรน กับ มาเรียอาน่า นักกิจกรรมด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศจากประเทศปารากวัย และกรณีของ ซีเน็บ เรอดวย์น ผู้เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลในประเทศฝรั่งเศส โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ออกแบบโปสเตอร์ ข้อความรณรงค์ และชักชวนผู้ที่สัญจรไปมาบริเวณลานพญานาค ริมกว๊านพะเยาให้ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐบาลของทั้งสองประเทศปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ
สำหรับกิจกรรมในวันสุดท้าย เป็นการอบรมเรื่องงานรณรงค์บนโลกดิจิตอล โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ความหลากหลายของผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ที่มีทั้งผู้ที่มองประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องไกลตัว เรื่องเท่ๆ ไปจนถึงเรื่องน่าเบื่อ การออกแบบงานรณรงค์บนโลกออนไลน์จึงต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่หลากหลายกว่างานรณรงค์บนโลกกายภาพ เพราะผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในแต่ละแพลตฟอร์ม เช่นเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือติ๊กต่อก ก็มีวัฒนธรรมการใช้ที่แตกต่างกัน โดยกิจกรรมไฮไลท์ของวันที่ 3 คือการที่ผู้อบรมได้ทดลองผลิตคลิปวีดีโอสั้น (reels) เพื่อรณรงค์ในโครงการเขียนเปลี่ยนโลก โดยคลิปวีดีโอทั้งหมดที่ผู้อบรมร่วมกันผลิต จะถูกเผยแพร่ในแฟนเพจของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยอีกด้วย