เมื่อวันที่ 23 – 26 สิงหาคม 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ Dot to Dot และมูลินิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) จัดกิจกรรมค่าย Human Rights Geek: Campaigner 101 จังหวัดระยอง ลงพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีเป้าหมายในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กับเยาวชนนักกิจกรรม นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มนักกิจกรรมของแอมเนสตี้ รวมถึงเสริมสร้างทักษะและเครื่องมือการรณรงค์ และส่งต่อแรงบันดาลใจให้เยาวชนขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนต่อไป
กิจกรรมค่าย Human Rights Geek: Campaigner 101 จังหวัดระยอง ทั้ง 4 วันนี้ ได้พาผู้เข้าร่วมไปเรียนรู้ประเด็นสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนการการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ผ่านกิจกรรมห้องเรียนสิทธิมนุษยชนในประเด็น สิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเยียวยา เรียนรู้ขบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในพื้นที่ EEC ผ่านการรับฟังประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ของตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ ‘EnLAW’ ‘EEC Watch’ และทีมสื่อภาคตะวันออก ‘EPIGRAM’
นอกจากการเรียนรู้ในห้องเรียน ผู้เข้าร่วมยังได้ลงพื้นที่และรับฟังผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และการต่อสู้เพื่อปกป้องพื้นที่ทำกินและสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่กับตัวแทนกลุ่ม ‘องค์กรประมงปากน้ำบ้านเรา’ และกลุ่ม ‘อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านแลง’ ในวันที่สามของกิจกรรม ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เครื่องมือการออกแบบงานรณรงค์ และได้ทดลองออกแบบงานรณรงค์จากข้อมูลที่ได้จากการไปลงพื้นที่ รวมถึงได้นำเสนอต่อตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนอีกด้วย
จุน นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ ราชภัฎเชียงราย ปี 4 กล่าวว่า ค่ายนี้ได้เปิดโลกทัศน์ของเขาเป็นอย่างมาก เพราะในฐานะนักศึกษาเอกการจัดการธุรกิจนานาชาติ สิ่งที่เขาเคยเข้าใจมาโดยตลอดจากการเรียนในห้องก็คือ “ธุรกิจต้องเน้นการสร้างผลกำไรสูงสุด” แต่การมาค่ายในครั้งนี้ทำให้เขาเห็นว่า ธุรกิจที่ดีจะคิดถึงผลกำไรของเจ้าของธุรกิจเพียงไม่กี่คนไม่ได้ แต่ต้องคิดถึงสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ด้วย
“มุมมองที่เปลี่ยนไปของเราคือเรื่อง ความเจริญ หรือจีดีพี หน่วยงานรัฐชอบบอกว่าระยองเป็นจังหวัดที่มีจีดีพีต่อหัวสูงมาก แต่พอเราไปเห็นจริงๆ เราเห็นว่าเงินเหล่านั้นมันไม่ได้ลงไปถึงชาวบ้านจริงๆ แต่ตกไปอยู่กับนายทุนเพียงบางกลุ่ม คนระยองจริงๆ ต้องย้ายออกจากพื้นที่ ไปทำไร่ ทำสวนที่อื่น เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี” จุนกล่าว
สิ่งที่จุนประทับจากกิจกรรมในครั้งนี้คือการได้เห็นคนในพื้นที่ ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อปกป้องและพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าว EPIGRAM สื่อท้องถิ่นที่พยายามจะบอกเล่าเรื่องราวในจังหวัดของตัวเอง การสร้างพื้นที่อย่าง Converstation ให้เยาวชนที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มีโอกาสมารวมกลุ่มแลกเปลี่ยนพูดคุยกันถึงอนาคตจังหวัดระยองที่พวกเขาอยากจะเห็น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านแลง ที่ลุกขึ้นมาเก็บข้อมูลมลพิษ และผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันในการต่อสู้เพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้กับชุมชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปีเพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้จุนอยากกลับไปมีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดเชียงใหม่มากกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาฝุ่นควัน
ส้ม นักศึกษาปี 2 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมกล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ได้ให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนกับสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วนทั้งในภาคทฤษฎีจากการทำความเข้าใจหลักการสิทธิมนุษยชนและทักษะการรณรงรงค์ และภาคปฏิบัติผ่านการพูดคุยกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจาก EEC รวมถึงภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ภายในพื้นที่ โดยข้อมูลและทักษะเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการทำงานในสายงานนักข่าวที่เธออยากทำในอนาคต และเติมไฟให้กับตัวเองในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมผ่านการทำข่าว
ส้มกล่าวว่าเธออยากให้เห็นคนในสังคมหันมาสนใจปัญหาและผลกระทบจาก EEC กันมากขึ้น เพราะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่คนในพื้นที่ต้องเป็นสิ่งที่ แม้อาจจะดูไกลตัวเมื่อมองจากมุมของคนนอกพื้นที่ แต่ก็มีความสำคัญและสร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในชุมชนโดยรอบเป็นอย่างมาก ตนเชื่อว่าทุกคนควรได้รู้ว่ามีคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ EEC ทั้งการที่ผู้ได้รับผลกระทบยังไม่ได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม การที่คนในพื้นที่ถูกกระทบสิทธิในการทำมาหากินในพื้นที่ของตนเอง การไม่มีสิทธิที่จะได้ใช้อากาศสะอาด หรือแหล่งน้ำสะอาดเหมือนพื้นที่อื่นๆ
“เป้าหมายที่เราตั้งไว้ตอนไปค่ายนี้และหลังกลับมาก็ยังเป็นเป้าหมายของเราอยู่ คือเราอยากเอาข้อมูลตรงนี้ไปพัฒนาเพื่อสื่อสารต่อ ในอนาคตเราอยากจะเขียนข่าวเชิงลึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ เลยคิดว่ากิจกรรมนี้น่าจะเป็นพื้นในการทำงานของเราต่อไป ทำให้เรารู้สึกมีใจที่อยากจะขับเคลื่อนเรื่องประเด็นทางสังคมมากขึ้น ยิ่งเราเห็นคนที่เขาถูกละเมิดสิทธิและไม่มีพื้นที่สื่อที่พูดถึงเรื่องของเขา ทำให้เรายิ่งอยากทำให้เสียงของเขาดังขึ้น”
ฟิล์ม นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยถึงจุดเริ่มต้นและความรู้สึกของการมาค่ายครั้งนี้ว่า ตนย้ายมาอยู่และเรียนที่ภาคอีสานตั้งแต่เด็ก แต่จริงๆ แล้วตนเกิดที่ระยอง ทำให้อยากกลับไปเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเกิด เพราะตนเองไม่รู้ว่า EEC คืออะไร และไม่ได้รับรู้ปัญหาและการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรม เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมทำให้ตนได้เปิดประสบการณ์เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ได้เรียนรู้ทักษะการรณรงค์ และมีแรงบันดาลใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
“การมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่า ปัญหาของการไม่มีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการพัฒนาในพื้นที่ที่เราอยู่ ไม่ใช่แค่ระยองที่เจอ เราเองก็เจอเหมือนกัน ปัญหาที่เรามองว่ามันไม่ได้กระทบตัวเราแต่จริงๆ มันกระทบหมด ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าทุกพื้นที่มีปัญหา ขอให้เราเข้าไปรับรู้และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปทำอะไรได้บ้าง”
อู๋ จากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach Club) และหนึ่งในสมาชิกแอมเนสตี้คลับ เล่าถึงความประทับใจและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ว่า การลงพื้นที่ทำให้เราเห็นปัญหาที่แท้จริง และได้คุยกับคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ได้เรียนรู้เรื่องการต่อสู้ของคนในกลุ่ม นอกจากนี้ยังได้รู้จักกับสื่อภาคตะวันออก EPIGRAM และได้รู้แนวคิดในการนำเสนอและการทำข่าวเพื่อขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่น
“ขอบคุณแอมเนสตี้ที่จัดค่าย Human Rights Geek ครั้งนี้ เปิดโอกาสให้คนที่มีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชนหรือมุมมองอื่น ๆ ได้รวมตัวและแลกเปลี่ยนกัน อย่างผมเรียนกฎหมาย เพื่อนอีกคนเรียนวิศวะ ก็ได้เห็นว่าเขามีมุมมองเรื่องโรงงานอย่างไร ได้แลกเปลี่ยนกันว่าจะทำยังไงให้ปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ได้มากที่สุด ค่าย Human Rights Geek เปิดโอกาสให้เราได้คุยกัน และได้เห็นปัญหาจริง ๆ”
โซบาส นักศึกษาและสมาชิกชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เล่าถึงการมาค่ายครั้งนี้ว่า ส่วนตัวสนใจมาเรียนรู้เกี่ยวกับ EEC เพราะภาคใต้กำลังจะมี ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) จึงอยากรู้ว่าโครงการพัฒนานี้มีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นแล้วบ้าง ซึ่งการมาเรียนรู้ในครั้งนี้ทำให้ตนได้เรียนรู้ว่า EEC มาจากยุทธศาสตร์ 20 ปี และมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทำให้ชาวบ้านสูญเสียพื้นที่ทำกิน แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำถูกทำลาย มลพิษจากโรงงานส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งหลังจากที่ตนกลับจากค่าย ก็ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในกิจกรรม SEC SEMINAR ทำให้นักศึกษาและอาจารย์รู้จัก EEC ซึ่งเกิดขึ้นในภาคตะวันออกและเป็นต้นแบบของ SEC ในภาคใต้ โดยช่วงถาม-ตอบ ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ถามตนเองเยอะมาก ทำให้ตนเองรู้สึกว่ามาถูกทางแล้วที่ได้นำเสนอเรื่องนี้
“เรารู้สึกประทับใจที่เราได้คิดออกแบบงานรณรงค์ร่วมกับเพื่อนๆ แต่ละคนมีไอเดียไม่เหมือนกัน แต่ละคนเอาความรู้ความถนัดตัวเองมาออกแบบกิจกรรม ได้คิดว่าหลังจากนี้เราจะทำอะไรกันต่อ เรารู้สึกดีใจที่ได้รู้จักเพื่อนๆ พี่ๆ ทุกคน แม้เราจะมีความแตกต่าง มาจากหลากหลายพื้นที่และวัฒนธรรม แต่เรามีเป้าหมายเดียวกัน คือเราไม่อยากให้มีโครงการพัฒนาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอีก”
พิมพ์ บัณฑิตจบใหม่จากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา กล่าวว่า เธอรู้สึกประทับจากกิจกรรมห้องเรียนสิทธิมนุษยชนที่ให้ผู้เข้าร่วมช่วยกันออกแบบชุมชนในฝัน ในกระดาษ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่ว และการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสร้างผลกระด้านสิทธิมนุษยชนต่อทั้งชุมชน ก่อนการไปลงพื้นที่จริง เพื่อพูดคุยกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ จาก EEC เพราะกิจกรรมดังกล่าวทำให้เธอเข้าใจความรู้สึกของการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชุมชนต้องเจอมาอย่างยาวนาน
“มันเป็นกิจกรรมที่ทำให้เรารู้ว่า ขนาดเรายังรู้สึกหงุดหงิดใจที่เราเป็นคนวาดชุมชนของเราขึ้นมาเอง แต่ทำไมคนนอก รัฐ หรือเอกชนถึงมีสิทธิในการกำหนดว่าจะทำอะไรก็ได้กับชุมชนของเรา มันทำให้เราเห็นภาพว่า การละเมิดสิทธิมันเชื่อมโยงกับสิทธิอื่น ๆ อย่างไรบ้าง พอได้ลงพื้นที่มันก็้ได้เอาสิ่งที่เรียนในคลาสไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง”
อีกหนึ่งสิ่งสร้างความประทับใจให้พิมพ์จากกิจกรรมในครั้งนี้คือการที่เธอได้มาเจอเพื่อที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน เป็นกลุ่มคนที่อยากจะลุกขึ้นมาทำอะไรบ้างอย่างเพื่อสังคมทำให้เธอรู้สึกมีความหวังมากขึ้นในการทำงานเพื่อสังคม ในอนาคตหากเธออยากจะจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน เธอรู้สึกว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เธอได้รู้จักจากค่ายนี้ที่พร้อมจะสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งไม่เคยห่างไกลจากมนุษย์ และแม้ว่าเราอาจจะไม่ใช่ผู้ที่สร้างปัญหา หรือได้รับผลกระทบโดยตรงเหมือนกับคนในจังหวัดระยอง แต่เราก็สามารถช่วยกันเปล่งเสียง และสนับสนุน หรือแม้กระทั่งการกระจายออกไปสู่เครือข่าย คนอื่นๆ ให้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมได้
“มันทำเราให้เห็นว่าคนทุกคนสามารถขับเคลื่อนสังคมได้แม้เราจะเป็นคนตัวเล็ก ๆ มันทำให้เรามีความหวังมากขึ้น พอเราเห็นเพื่อนๆในคลาสเชื่อว่าสังคมมันขับเคลื่อนได้ไปไกลกว่า เรารู้สึกว่ามันมี คอมมิวนิตี้เล็ก ๆ เกิดขึ้น เราจะไม่โดดเดี่ยวหากวันนึงเราอยากลุกขึ้นมาทำกิจกรรม เรารู้สึกว่ามีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะทำร่วมไปกับเรา”
ข้าว นิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ก่อนมาเข้าร่วมกิจกรรมกับแอมเนสตี้ ตนไม่เคยรู้จัก EEC และไม่เคยรู้เลยว่ามีเหตุการณ์น้ำมันรั่วเกิดขึ้น แต่พอได้มาเข้าร่วมกิจกรรม ได้เรียนรู้กับแอมเนสตี้ วิทยากรจาก EnLaw EEC Watch EPIGRAM และชุมชนในพื้นที่ ทำให้รู้ว่าตอนนี้ EEC ส่งผลกระทบอย่างไรกับคนระยองและภาคตะวันออก และรัฐตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งสิ่งที่ตนประทับใจมากๆ คือการได้ลงพื้นที่พูดคุยกับคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ นอกจากนี้ตนรู้สึกประทับใจที่พื้นที่การเรียนรู้ของแอมเนสตี้เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงออก แสดงความเห็นโดยไม่ต้องกลัวที่จะถูกตัดสิน เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยเคารพกัน และทำให้เรามีส่วนร่วมในกิจกรรมจริงๆ
“ก่อนหน้านี้เรารู้สึกว่าเรามีอะไรที่อยากผลักดันแต่เราไม่รู้ว่าเราจะเริ่มตรงไหน หรือว่าเราจะทํายังไง เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการวางแผนงานรณรงค์เลย แต่พอได้เรียนรู้เรื่องการออกแบบงานรณรงค์กับแอมเนสตี้ ก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองเคว้งเหมือนเมื่อก่อน ต่อไปถ้าเราอยากจะผลักดันหรือรณรงค์อะไร เราก็พอจะมีแนวทางว่ามันควรจะเริ่มต้นยังไง วางแผนยังไง แล้วจะทำยังไงบ้างให้เราไปถึงเป้าหมายงานรณรงค์ที่วางไว้ได้”