หนึ่งในภารกิจหลักของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คือการหนุนเสริมบทบาทของเยาวชนในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ โดยหนึ่งในเครือข่ายเยาวชนที่เราใช้ในการบรรลุภารกิจดังกล่าวคือสมาชิกกลุ่ม หรือแอมเนสตี้คลับ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 10 คลับ แบ่งเป็นคลับจากโรงเรียนอินเตอร์ 5 คลับ และคลับไทย 5 คลับ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยแต่ละคลับล้วนมีความแตกต่างหลากหลายทั้งในเชิงรูปแบบการทำงาน และประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ตนสนใจตามแต่ละพื้นที่
เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกคลับเหล่านี้ ได้พบปะ สร้างสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานและแผนงานปี 2566 ของคลับ แอมเนสตี้จึงจัดกิจกรรม Amnesty Club First Meet ขึ้นระหว่างวันที่ 1 ถึง 2 มิถุนายน 2566 โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกจากคลับไทย 5 คลับ ได้แก่ แอมเนสตี้คลับ นิติอาสา มหาวิทยาลัยขอนแก่น คลับมหาวิทยาลัยพะเยา คลับ Law Long Beach จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่) คลับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) และคลับสตูล
กิจกรรมในวันแรกเน้นไปที่การทำความรู้จักเพื่อนต่างคลับผ่านกิจกรรมฐานและทีมสัมพันธ์ โดยหนึ่งในกิจกรรมหลักของวันนี้คือ “ลองมาเป็นแอมเนสตี้ดูสิ” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เข้ารวมได้ลองสวมบทบาทเป็นฝ่ายต่าง ๆ ภายในแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เช่น ลองเป็นฝ่ายระดมทุน ที่ต้องออกแบบสินค้าในแอมเนสตี้ชอปให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ตั้งแต่คนที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงกลุ่มคนที่มองสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องไกลตัว หรือฝ่ายรณรงค์ที่ต้องออกแบบกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ และร่างแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพเสรีภาพในการแสดงออกของเยาวชน ซึ่งกิจกรรมนี้ได้ช่วยให้สมาชิกแอมเนสตี้คลับเข้าใจการทำงานของแอมเนสตี้มากขึ้น
กิจกรรมในวันที่ 2 เน้นไปที่การวางแผนงานคลับ และแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน โดยในที่ 3 มิถุนายน จะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และแต่ละคลับนอกจากจะได้มีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของแอมเนสตี้ ประเทศไทย ยังมีช่วงได้นำเสนอแผนงานของคลับตัวเองในการประชุมดังกล่าวอีกด้วย
กิจกรรมวางแผนงานคลับ เป็นไปด้วยความคึกคักและสนุกสนาน เพราะนอกจากนำเสนอแผนงานของคลับตัวเองแล้ว ผู้เข้าร่วมยังได้รับฟังแผนงานของคลับอื่น ๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับแผนงานของตัวเองและนำไปสู่การร่วมงานกันในอนาคต โดยแต่ละคลับต่างมีกิจกรรมและความสนใจในประเด็นที่แตกต่างกัน เช่น นิติอาสา มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนใจสิทธิชุมชน ที่ดินทำกิน แอมเนสตี้คลับ มอ.ปัตตานี สนใจกฎหมายพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
ในช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมที่ให้แต่ละคลับได้ทบทวนความท้าทายที่แต่ละคลับต้องเจอโดยหลังจากที่ได้แลกเปลี่ยนความท้าทายของแต่ละคลับแล้ว แต่ละคลับยังได้ร่วมกันหาวิธีการที่จะช่วยลดความท้าทายที่เจอ เช่น แนะนำวิธีการบริหารองค์กร หรือการสื่อสารโดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้ฟัง แม้ทุกคลับอาจจะไม่ได้ทางออกให้กับความท้าทายทุกอย่างที่ตนต้องเผชิญ แต่ก็เป็นพื้นที่ที่สมาชิกคลับได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กันและกัน อย่างเปิดกว้าง ปลอดภัย และเป็นกันเอง
โดยสรุปแล้ว กิจกรรม Amnesty Club First Meet ที่เพิ่งผ่านไปนั้น ถือเป็นกิจกรรมที่ได้สานความสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายระหว่างสมาชิกแอมเนสตี้คลับต่างๆ เปิดโอกาสให้เกิดการวางแผนร่วมกัน เพื่อการขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มแข็งร่วมกันต่อไปในอนาคต
หากคุณและเพื่อนๆ สนใจสมัครเป็นแอมเนสตี้คลับ สามารถดูรายละเอียดได้ที่: https://hre.amnesty.or.th/start/สมาชิกกลุ่ม/