สิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+ Rights)
“มนุษย์ทุกคนเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ” ข้อความนี้ถูกระบุในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นของทุกคน โดยผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ต่างก็มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง เคารพและเติมเต็มสิทธิมนุษยชนของพวกเขาเช่นเดียวกัน รวมไปถึงการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ การใช้ความรุนแรง และการทรมาน
อย่างไรก็ตาม ผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกกลับต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ทั้งการทุบตีอย่างทารุณ ความรุนแรงทางเพศ การยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง การละเมิดในที่คุมขังและสถานพยาบาล การตีตรา การทำให้การเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นอาชญากรรม การคุกคาม กลั่นแกล้งและเลือกปฏิบัติในที่ทำงานและที่บ้าน ตลอดจนในสถานศึกษา และการเข้าถึงบริการสาธารณะ พวกเขาถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเพียงเพราะมีอัตลักษณ์ การแสดงออก พฤติกรรมหรือร่างกายที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานและบทบาททางเพศที่สังคมนั้น ๆ กำหนด ซึ่งรวมไปถึงหลักคิดที่ว่าคนเรามีสองเพศคือชายและหญิงเท่านั้น (binary system) และถูกเลือกปฏิบัติแบบทับซ้อน ไม่ใช่แค่บนพื้นฐานทางรสนิยม อัตลักษณ์และลักษณะทางเพศเท่านั้น แต่รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนพื้นฐานของสีผิว ชาติพันธุ์ สัญชาติ ความพิการ ศาสนา สถานะทางสุขภาพ และอื่น ๆ ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยทางเพศ ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นรุนแรงเป็นวงกว้างยิ่งขึ้นไปอีก
ทำไมสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงสำคัญ?
ผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นมนุษย์เหมือนกับเราทุกคน สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงเป็นสิทธิมนุษยชนเช่นกัน ไม่มีใครสมควรได้รับการเลือกปฏิบัติหรือถูกเกลียดชังเพียงเพราะพวกเขามีอัตลักษณ์ รสนิยมหรือลักษณะทางเพศแตกต่างกับเรา ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งหมายรวมถึงการแสดงออกทางเพศด้วย มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร ย่อมต้องการการยอมรับในตัวตนหรืออัตลักษณ์ของตัวเอง เหมือนการต้องการให้ผู้อื่นยอมรับในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ต้องการให้คนอื่นยอมรับในศาสนา ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ สถานะทางเศรษฐกิจของเราโดยไม่มีอคติหรือการเลือกปฏิบัติ การยอมรับรสนิยม อัตลักษณ์หรือลักษณะทางเพศก็เช่นกัน การยอมรับกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศและเข้าใจตัวตนของพวกเขาสามารถทำให้ข้อจำกัดที่เกิดจากการเหมารวมทางเพศ (gender stereotypes) หมดไป ซึ่งจะทำให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนทั้งปวงได้โดยปราศจากข้อจำกัดอันแบ่งแยกทางสังคม ทำให้พวกเขาสามารถที่จะแสดงออก ใช้ศักยภาพของตนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมได้อย่างเต็มที่
การสนับสนุนสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศรวมถึงการผลักดันนโยบายและกฎหมายที่ขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศที่จะช่วยลดการกีดกันทางเศรษฐกิจและสังคม และทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงสิทธิทางสุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัย และการจ้างงานมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายคนที่ถูกคุกคามหรือเสี่ยงต่อการคุกคามจากกลุ่มที่ต่อต้านพวกเขา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ ความปลอดภัย และเสรีภาพ การลบล้างวาทกรรมการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) และการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ (Transphobia) จะช่วยให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศจากความเสี่ยงทางร่างกายและจิตใจ
LGBTQIA ย่อมาจากอะไร
L – Lesbian (เลสเบี้ยน)
G – Gay (เกย์)
B – Bisexual (ไบเซ็กชวล)
T – Transgender (ทรานส์เจนเดอร์)
Q – Queer / Questioning (เควียร์)
I – Intersex (อินเทอร์เซ็กส์)
A – Agender (เอเจนเดอร์)
ภาษาที่ใช้เรียกกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาจมีการเพิ่มตัวย่อหรือความหมายในอนาคต
นิยามศัพท์ที่ควรรู้
อัตลักษณ์ทางเพศ หรือสำนึกทางเพศ (Gender Identity) สามารถสะท้อนสำนึกและความรู้สึกทางเพศของตนเอง ว่าตนเองเป็นเพศอะไร โดยอัตลักษณ์ทางเพศของแต่ละคนอาจสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดก็ได้ เช่น ทรานส์เจนเดอร์หรือทรานส์ (Transgender / Trans) เป็นคำที่ให้ความหมายครอบคลุมในวงกว้างในการอธิบายบุคคลที่มีการแสดงออกทางเพศและอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ได้แก่ คนข้ามเพศ (transexual people) คนที่แต่งตัวข้ามเพศ (cross-dress) หรือแต่งตัวไม่ตรงกับเพศสรีระของตน บุคคลที่ถูกนิยามว่าไม่ได้เป็นชายหรือหญิง คนที่มีสำนึก อัตลักษณ์ทางเพศต่างกับเพศกำเนิด เป็นต้น การข้ามเพศนั้นทำได้หลายรูปแบบ ได้แก่ การศัลยกรรม แปลงเพศและรับการบำบัดทางฮอร์โมนเพื่อทำให้ร่างกายของพวกเขาสอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ เปลี่ยนสรรพนามใหม่ เปลี่ยนชื่อ หรือทำเรื่องรับรองเพศสถานะตามกฎหมาย ในขณะที่ ซิสเจนเดอร์ (Cisgender) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “cis” ใช้สำหรับอธิบายบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศกำเนิดของตน เช่น คนที่มีเพศสรีระเป็นชาย รับรู้และมีสำนึกทางเพศเป็นชาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคนที่นิยามว่าตัวเองเป็นเอเจนเดอร์ (Agender) ไม่ระบุอัตลักษณ์ทางเพศ และ/หรือ ปฏิเสธแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศที่ตายตัว
การแสดงออกทางเพศ (Gender Expression) คือ วิธีหรือพฤติกรรมที่เราแสดงออกทางเพศผ่านการกระทำและรูปลักษณ์ รวมถึงการแต่งกาย การพูดและกิริยาต่าง ๆ ซึ่งจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเพศทางชีวภาพ (biological sex) อัตลักษณ์ทางเพศ หรือรสนิยมทางเพศก็ได้
ลักษณะทางเพศ (Sex characteristics) คือ ลักษณะทางกายภาพทางเพศ ทั้งอวัยวะเพศ และระบบสืบพันธ์ุ โครโมโซม ฮอร์โมน และการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศทุติยภูมิในช่วงวัยรุ่น
อินเทอร์เซ็กส์ (Intersex) คือ คนที่เกิดมาพร้อมกับลักษณะทางเพศที่ไม่สอดคล้องกับคำนิยามหรือคุณลักษณะทั่วไปตามบรรทัดฐานของชายหรือหญิง ร่างกายของบางคนมีทั้งลักษณะของเพศหญิงและเพศชาย และบางคนมีองค์ประกอบของโครโมโซมไม่ใช่ทั้งหญิงหรือชาย ลักษณะเหล่านี้อาจปรากฏตั้งแต่กำเนิด เริ่มปรากฏชัดเจนเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือภายหลังในชีวิต อินเตอร์เซ็กส์อาจมีรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศใดก็ได้
รสนิยมทางเพศ (Sexual orientation) คือ แรงดึงดูดทางกายภาพ และ/หรือแรงดึงดูดทางอารมณ์ ความต้องการทางเพศของบุคคลต่อผู้อื่น คนส่วนใหญ่มีรสนิยมทางเพศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของตัวเอง เช่น เกย์ (Gay men) หรือผู้ที่นิยามตัวเองว่าเป็นเพศชาย และ เลสเบี้ยน (Lesbian) หรือผู้ที่นิยามตัวเองว่าเป็นเพศหญิง มีแรงดึงดูดทางกายและทางใจต่อผู้ที่นิยามตนเองว่าเป็นเพศเดียวกับพวกเขา ในขณะที่ผู้ที่มีความชอบในเพศตรงข้าม (Heterosexual) จะมีแรงดึงดูดทางกายและทางใจต่อผู้ที่มีนิยามทางเพศต่างกับตัวเอง นอกจากนี้ ไบเซ็กชวล (ฺBisexual) หรือบางครั้งเรียกสั้น ๆ ว่า ไบ (bi) มีแรงดึงดูดทั้งต่อผู้ที่เป็นเพศเหมือนกับตัวเองหรือต่างกับตัวเอง เลสเบี้ยน เกย์หรือไบเซ็กชวลอาจมีอัตลักษณ์ทางเพศหรือลักษณะทางเพศใด ๆ ก็ได้
รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และลักษณะทางเพศของแต่ละคนไม่เหมือนกันและมีความหลากหลายมากกว่าที่ได้ระบุไว้ในข้อมูลข้างต้น สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเคารพทางเลือกของแต่ละบุคคล ซึ่งรวมไปถึงการเรียกหรือกล่าวถึงชื่อหรือสรรพนามของบุคคลอื่น โดยเราสามารถถามบุคคลอื่นได้ว่าเขาต้องการให้เราปฏิบัติต่อเขาอย่างไร เช่น การใช้สรรพพนาม เธอ/เขา (his/ her) เวลากล่าวถึงบุคคลนั้น เป็นต้น
สิทธิตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International covenant on civil and political rights – ICCPR)
- เพื่อทำให้แน่ใจว่ากฎหมายของรัฐที่เป็นสมาชิกต้องประกันการคุ้มครองทุกปัจเจกบุคคลอย่างเสมอภาคโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ เพื่อให้ความเคารพและประกันความเท่าเทียมของสิทธิมนุษยชน โดยปราศจากการแบ่งแยกใด ๆ เช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ศาสนา ภาษา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด เผ่าพันธุ์แห่งชาติ สังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
สิทธิในเสรีภาพจากการเลือกปฏิบัติ ความเสมอภาคตามกฎหมาย และการคุ้มครองที่เท่าเทียมทางกฎหมายที่เกี่ยวกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ
- การทำให้แน่ใจว่าบุคคลทุกคนได้รับซึ่งสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยเหตุแห่งวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ทุกคนมีสิทธิในความเสมอภาคตามกฎหมาย และการคุ้มครองที่เท่าเทียมภายใต้กฎหมายโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นกฎหมายของรัฐต้องรับรองการคุ้มครองที่เท่าเทียมและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, 2557)
สิทธิพื้นฐานในที่ทำงาน
- สิทธิในโอกาสที่เท่าเทียม และการปฏิบัติต่อลูกจ้างที่มีความหลากหลายทางเพศ การคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในแง่ของกฎหมายและในทางปฏิบัติ บนหลักความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, 2557)
สิทธิในการได้รับการส่งเสริมการจ้างงาน
- เพื่อยืนยันโอกาสในการจ้างงาน การพัฒนาทักษะ การดำรงชีพอย่างยั่งยืน ความหลากหลายและการยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสถานที่ทำงาน (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, 2557)
กลไกระหว่างประเทศ
- คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Human Rights Committee – HR committee)
-
-
- มีหน้าที่ในการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของกิจกรรมรักร่วมเพศ ออกมาตรการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ รวมถึงการจัดการความล้มเหลวในการเพิ่มหมวดหมู่เกี่ยวกับรสนิยมทางเพศในกฎหมาย การตอบสนองและขีดจำกัดความสามารถของสถาบันที่ไม่เพียงพอต่อทัศนคติ และความรุนแรงของการเลือกปฏิบัติ ของแต่ละประเทศ (Paula Gerber, 2557)
- กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International covenant on civil and political rights – ICCPR)
-
-
- เพื่อทำให้แน่ใจว่ากฎหมายของรัฐที่เป็นสมาชิกต้องประกันการคุ้มครองทุกปัจเจกบุคคลอย่างเสมอภาคโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ เพื่อให้ความเคารพและประกันความเท่าเทียมของสิทธิมนุษยชน โดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
- หลักการยอกยาการ์ตา (The Yogyakarta Principles)
-
-
- เพื่อเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีบรรทัดฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (พีรดา ภูมิสวัสดิ์)
- ภาคีปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration: AHRD)
-
-
- เพื่อรับรองว่า บุคคลทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ และมีสิทธิเสรีภาพโดยปราศจากการแบ่งแยกทางเพศ (ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒ, 2562)
- ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR)
-
-
- เพื่อยืนยันว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาอิสระและเสมอภาคกัน โดยปราศจากความแตกต่างและการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, 2557)
- ปฏิญญาการเมืองแห่งองค์กรสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวีและเอดส์ (UN Political Declaration on HIV and AIDS)
-
-
- กล่าวถึงการส่งเสริมความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในการลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเชื้อ HIV/AIDS
- ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights – ECHR)
-
- มีองค์ความรู้ในหลักกฎหมายด้านการละเมิดสิทธิภายใต้อนุสัญญายุโรป ในประเด็นที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ โดยเหตุวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ
กฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง
- กฎกระทรวงแรงงานเรื่องมาตรฐานแรงงานไทย ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจไทย พ.ศ. 2547
-
-
- ครอบคลุมถึงเรื่องของค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง อายุเกษียณ ในแนวปฏิบัติสำหรับองค์กรธุรกิจในการปฏิบัติที่เสมอภาคต่อลูกจ้าง โดยมิให้เลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, 2557)
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
-
-
- รับรองความเสมอภาคภายใต้หลักสำคัญเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการนิยามหลักความเสมอภาค และการไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ รัฐมีหน้าที่ขจัดอุปสรรคในการใช้สิทธิของประชาชนและส่งเสริมเสรีภาพของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆ (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, 2557)
- พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551
-
-
- มาตรา 15 ได้การคุ้มครองลูกจ้างในภาคเอกชน โดยมีบทบัญญัติที่รับรองการปฏิบัติที่เสมอภาค สำหรับลูกจ้างทั้งชายและหญิง และค่าจ้างที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน อีกทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังห้ามมิให้มีการคุกคามทางเพศกับลูกจ้างทุกคน (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, 2557)
- ข้อกำหนดคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการสวัสดิการสังคมแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเป้าหมายเป็นผู้รับสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2555
-
-
- ระบุว่า “บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” เป็นหนึ่งใน 13 กลุ่มประชากรที่ “เผชิญกับความยาก ลำบาก” (เช่น การถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือการเลือกปฏิบัติ) และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือพิเศษในการเข้าถึงบริการทางสังคม (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, 2557)
- พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558
-
- มาตรา 24: หากเพศใดก็ตามถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ สามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ได้ เพื่อตรวจสอบและไกล่เกลี่ยหรือชดเชยเยียวยาผู้เสียหาย (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, 2557)
- มาตรา 28: กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งมีที่มาจากเงินอุดหนุนรัฐบาล จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และค่าปรับจากการลงโทษผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, 2557)
สถานการณ์ปัจจุบัน
-
- ในปัจจุบัน การเปิดเผยผลสำรวจของ UNDP พบว่า คนไทยมองกลุ่มหลากหลายทางเพศในแง่บวก สนับสนุนให้ออกนโยบายหรือกฎหมายปกป้อง แต่ยังพบการตีตรา การแบ่งแยก การถูกเลือกปฏิบัติ ‘รับได้แต่ไม่อยากสุงสิง’ และยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นคนนอกครอบครัวของตัวเองมากกว่าและประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติ หรือกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน (พีรภัทร์ เกื้อวงศ์, 2563)
- การผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่มีขึ้นเพื่อให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยมีสาระสำคัญ คือ มีการให้จดทะเบียนคู่ชีวิต กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิตโดยแบ่งเป็นสินส่วนตัวและสินทรัพย์ร่วมกัน การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.นี้ ไม่ได้ครอบคลุมการเข้าถึงสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์บางอย่างของคู่ชีวิต เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรส (สำนักข่าว BBC Thai, 2563)
- เปรียบเทียบ พ.ร.บ.คู่ชีวิต – พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
-
- สถานะตามกฎหมาย
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตกำหนดนิยามคู่ชีวิต ให้หมายถึงบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายคู่ชีวิตเพราะไม่สามารถใช้สิทธิจดทะเบียนสมรสได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) เนื่องจากเหตุแห่งเพศสภาพ ร่าง พ.ร.บ. นี้จึงใช้ได้เฉพาะการจดทะเบียนของชายและชาย หญิงและหญิงเท่านั้น แต่แนวทางแก้ไข ป.พ.พ.ว่าด้วยการสมรสของพรรคก้าวไกล มีจุดประสงค์ในการแก้ไขคำนิยามที่สะท้อนฐานความคิดเพศสภาพแบบสองเพศ ให้เป็นคำใหม่ ที่ทุกคนไม่ว่าจะเพศใดจะได้รับรองสิทธิตามกฎหมายอย่างเทียมกัน (iLaw, 2563)
- การหมั้น
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการหมั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียม ภายใต้กฎหมาย แต่แนวทางแก้ไข ป.พ.พ. ว่าด้วยการสมรสของพรรคก้าวไกล เปิดโอกาสให้บุคคลทุกเพศ สามารถทำการหมั้นได้ (iLaw, 2563)
- อายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนคู่ชีวิต
- ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตได้ปรับอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนคู่ชีวิตลงเป็น 17 ปี แต่เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แนวทางการแก้ไข ป.พ.พ. ว่าด้วยการสมรสของพรรคก้าวไกลได้ปรับอายุขั้นต่ำในการสมรสให้เริ่มที่ 18 ปีบริบูรณ์ (iLaw, 2563)
- การคุ้มครองเด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (พ.ร.บ.อุ้มบุญ)
- ถึงแม้ว่าร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตมีการปรับเปลี่ยน ให้คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ แต่ร่าง พ.ร.บ. นี้ก็ยังไม่มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมถึงการมีบุตรโดยใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพ ซึ่งแนวทางการแก้ไข ป.พ.พ. ของพรรคก้าวไกลได้ผลักดัน พ.ร.บ.อุ้มบุญ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความเป็นครอบครัวอย่างไม่ยึดติดกับกรอบทางเพศ (iLaw, 2563)
- สิทธิตามกฎหมาย
- ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตกำหนดสิทธิในการทำการต่าง ๆ ในฐานะคู่ชีวิต แนวทางการแก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรสของพรรคก้าวไกล มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้คู่สมรสทุกเพศ ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ภายใต้กลไกปกติของกฎหมาย (iLaw, 2563)
- สิทธิการเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์คู่ชีวิต/คู่สมรส
- ในการใช้คำว่า “คู่ชีวิต” ตามร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทำให้คู่ชีวิต ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์บางอย่างของคู่สมรสได้ เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรส แต่แนวทางการแก้ไข ป.พ.พ.ของพรรคก้าวไกล มุ่งเน้นไปยังการปรับแก้ถ้อยคำในกฎหมายเพื่อรับรองการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐของทุกเพศอย่างเท่าเทียมและปราศจากเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (iLaw, 2563)
รัฐมีหน้าที่อะไร? (State Obligations)
รัฐมีหน้าที่ในการเคารพ ปกป้องและเติมเต็มสิทธิมนุษยชนของทุกคนซึ่งรวมไปถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย
เคารพ (Respect)
- รัฐต้องยกเลิกกฎหมายที่ทำให้การมีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันและการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศเป็นอาชญากรรม รวมถึงยกเลิกกฎหมายอื่น ๆ ที่ใช้ในการดำเนินคดี คุกคาม หรือเลือกปฏิบัติต่อบุคคลบนพื้นฐานของรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศ กฎหมายในลักษณะนี้ละเมิดสิทธิของบุคคลในการมีเสรีภาพจากการเลือกปฏิบัติ ละเมิดหลักความเสมอภาคและการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมไปถึงสิทธิที่จะไม่ถูกคุมขังโดยพลการ และสิทธิในการมีชีวิต
- ตรากฎหมายและบังคับใช้กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ
- ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐ
ปกป้อง (Protect)
- รัฐต้องปกป้องผู้มีความหลากหลายทางเพศจากการใช้ความรุนแรงโดยรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ครอบครัว บุคคลทั่วไป ภาคเอกชน องค์กรจัดตั้งหรือกลุ่มสุดโต่งที่ต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ และจะต้องมีการสืบสวนและลงโทษผู้้กระทำความรุนแรง เพื่อปกป้องสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงของบุคคล
- รัฐจะต้องห้ามไม่ให้มีการผ่าตัด ศัลยกรรมหรือดำเนินกระบวนการทางการแพทย์ต่อเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นอินเทอร์เซ็กส์โดยไม่ได้รับการยินยอม เพียงเพื่อบังคับให้พวกเขามีลักษณะทางกายภาพตรงกับระบบ 2 เพศ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในบูรณภาพทางร่างกาย สิทธิในสุขภาพ สิทธิส่วนตัวและเอกสิทธิ์ หรือหลักการการตัดสินใจด้วยตัวเอง (self-autonomy) และอาจเป็นการปฏิบัติที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกด้วย
- กฎหมายและนโยบายขจัดการเลือกปฏิบัติควรครอบคลุมถึงภาคการศึกษา รวมไปถึงการห้ามการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของรสนิยม อัลตลักษณ์ การแสดงออกและลักษณะทางเพศ
เติมเต็ม (Fulfil)
- รณรงค์และสร้างความตระหนักรู้แก่สังคม เผยแพร่ข้อมูลความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และต่อต้านการเลือกปฏิบัติและอาชญากรรมจากความเกลียดชัง โดยการขจัดความเข้าใจผิด มายาคติและการเหมารวมเกี่ยวกับบทบาท รสนิยม อัตลักษณ์ การแสดงออกและลักษณะทางเพศ จะช่วยลดอคติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคม นอกจากนี้ การทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะทำให้คนในสังคมนำปัญหาการเลือกปฏิบัติมาเป็นประเด็นสาธารณะในฐานะปัญหาสิทธิมนุษยชนที่มีความสำคัญได้อีกด้วย
- บรรจุข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศลงในหลักสูตรระดับชาติ