ทั่วโลกมีชนเผ่าพื้นเมืองจำนวน 476 ล้านคนใน 90 ประเทศ (คิดเป็น 6% ของประชากรโลก) และแม้สิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองจะได้รับการรับรอง และให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลายคนยังมองไม่เห็นพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเป็นความจริงที่ว่า ชนเผ่าพื้นเมืองกลับถูกทิ้งไว้ข้างหลังและต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ความยากจนขั้นรุนแรง ความลำบากในการเข้าถึงการศึกษาและระบบสาธารณสุข และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในวงกว้าง
ชนเผ่าพื้นเมืองคือใคร?
ชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ในทุกทวีปตั้งแต่แถบอาร์กติกไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก เอเชีย แอฟริกา และอเมริกา โดยกฎหมายระหว่างประเทศรวมไปถึงปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (United nation Declaration on the rights of indigenous peoples – UNDRIP) ไม่ได้กำหนดคำนิยามของ “ชนเผ่าพื้นเมือง (indigenous peoples)” เนื่องจากเป็นเจตนาของผู้ร่าง โดยการนิยามชนเผ่าพื้นเมืองควรเป็นสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในการระบุตัวตนด้วยตนเอง (right of self-identification) และเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง (right to self-determination) ชนเผ่าพื้นเมือง จะต้องระบุตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองและได้รับการรับรองและยอมรับโดยชุมชนว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่ง พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์กับสังคมก่อนที่จะมีการรุกราน การล่าอาณานิคมหรือมีการสถาปนาเขตแดนของรัฐชาติในปัจจุบัน โดยชนเผ่าพื้นเมืองมีสถาบันและระบบสังคม เศรษฐกิจการเมือง วัฒนธรรม ภาษาและความเชื่อที่แตกต่างจากภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคมเป็นของตนเอง และมีความเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับดินแดนและทรัพยากรธรรมชาติโดยรอบ พวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะส่งต่อแผ่นดินที่บรรพบุรุษอาศัย และสืบทอดอัตลักษณ์ของตน รวมไปถึงแบบแผนวัฒนธรรม สถาบันทางสังคมและระบบกฎหมายให้กับคนรุ่นต่อไป
ทำไมสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองจึงสำคัญ?
ความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ (Equality and non-discrimination)
การไม่เลือกปฏิบัติและความเท่าเทียมเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในการเข้าถึงและใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP) ได้ระบุไว้ในข้อ 2 ว่า ประชาชนและปัจเจกบุคคลที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง มีเสรีภาพเท่าเทียมกับบุคคลอื่น และมีสิทธิที่จะเป็นอิสระจากการถูกเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบในการใช้สิทธิของตน หลักความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัตินี้ยังรวมไปถึงสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในที่ดินและทรัพยากร และการเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชนเผ่าพื้นเมืองด้วย
สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง (Right to self-determination)
ทุกคนมีสิทธิในการกำหนดสถานะทางการเมืองของตนได้อย่างเสรี รวมทั้งดำเนินการอย่างเสรีในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของตน ซึ่งสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองถูกระบุในข้อ 3 ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง และมาตรา 1 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสิทธิทางการเมืองของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งรวมถึงสิทธิในการเข้าร่วมการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิทธิของพวกเขาโดยผ่านผู้แทนที่พวกเขาเลือกขึ้นมาตามกระบวนการของตนเอง และมีสิทธิในการธํารงรักษาและพัฒนาสถาบันที่ทําหน้าที่ตัดสินใจของตนเองได้
ความยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้ง รับรู้ล่วงหน้าและเป็นอิสระ (Free, Prior and Informed Consent)
เป็นอิสระ (Free) หมายถึง การให้ความยินยอมของชนเผ่าพื้นเมืองจะต้องไม่ได้มาจากการถูกบังคับ ข่มขู่ หรือครอบงำ
ล่วงหน้า (Prior) หมายถึง การขอความยินยอมล่วงหน้าอย่างเพียงพอ ก่อนการอนุญาตหรือเริ่มกิจกรรมใด ๆ รวมถึงกระบวนการฉันทานุมัติและการปรึกษาหารือกับชนเผ่าพื้นเมือง
การบอกแจ้ง รับรู้ (Informed) หมายถึง การให้ข้อมูลที่ครอบคลุมรอบด้านแก่ชนเผ่าพื้นเมืองที่เกี่ยวข้อง เช่น ลักษณะ ขนาด และขอบเขตของโครงการหรือกิจกรรมที่เสนอ วัตถุประสงค์ของโครงการ ระยะเวลา ท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ การประเมินเบื้องต้นของแนวโน้มผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น บุคลากรที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ และกระบวนการขั้นตอนของโครงการ
การปรึกษาหารือกับชนเผ่าพื้นเมืองและการมีส่วนร่วมของชนเผ่าพื้นเมืองจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการได้รับความยินยอมนี้ โดยรัฐต้องปรึกษาหารือกับชนเผ่าพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องในการได้รับความยินยอม ก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมือง (ข้อ 19) และการอนุมัติโครงการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อที่ดิน เขตแดนและทรัพยากร รวมถึงการพัฒนา การใช้ประโยชน์และการสำรวจแร่ธาตุ น้ำหรือทรัพยากรอื่น ๆ (ข้อ 32)
รัฐจะต้องไม่บังคับโยกย้ายหรืออพยพชนเผ่าพื้นเมืองออกจากที่ดินและเขตแดนของพวกเขา และไม่จัดเก็บหรือทิ้งวัตถุอันตรายในที่ดินหรือเขตแดนของชนเผ่าพื้นเมือง โดยปราศจากความยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้ง รับรู้ล่วงหน้าและเป็นอิสระ (ข้อ 10 และข้อ 29)
นอกจากนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา รวมถึงการได้คืนทรัพย์สิน หรือการขดเชยที่ยุติธรรม ถูกต้องและเท่าเทียมสำหรับที่ดิน เขตแดนและทรัพยากรซึ่งพวกเขาเคยเป็นเจ้าของหรือเคยครอบครอง หรือเคยใช้ประโยชน์ตามประเพณี และที่ถูกยึด ถูกเอาไป ถูกใช้หรือถูกทำลายโดยปราศจากความยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้ง รับรู้ล่วงหน้าและเป็นอิสระ (ข้อ 28) และมีสิทธิในการได้รับการเยียวยาซึ่งรวมถึงการคืนทรัพย์สินทางปัญญา ภูมิปัญญา ศาสนา จิตวิญญาณที่ถูกพรากไปโดยปราศจากความยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้ง รับรู้ล่วงหน้าและเป็นอิสระของชนเผ่าพื้นเมือง (ข้อ 11)
สิทธิในที่ดิน เขตแดนและทรัพยากร (Rights to lands, territories and resources)
ตั้งแต่อดีต ชนเผ่าพื้นเมืองมีความเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับดินแดนและทรัพยากรโดยรอบซึ่งเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิต การยังชีพและการดำรงอยู่ของพวกเขาในฐานะชุมชน อย่างไรก็ตาม ชนเผ่าพื้นเมืองกลับต้องเผชิญกับปัญหาทางกฎหมาย มาตรการและการปฏิบัติอื่น ๆ ที่ทำให้พวกเขาสูญเสียที่ดิน เขตแดนและทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาเป็นเจ้าของหรือใช้ประโยชน์ตามประเพณีมาอย่างช้านาน
สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในที่ดิน เขตแดนและทรัพยากร มีดังนี้
- สิทธิในการธำรงรักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเฉพาะทางจิตวิญญาณกับที่ดิน เขตแดน แหล่งน้ำและทรัพยากรอื่นๆ (UNDRIP มาตรา 25 )
- สิทธิในการเป็นเจ้าของ ใช้ พัฒนา และควบคุมที่ดิน เขตแดน และทรัพยากรซึ่งพวกเขาครอบครองและเป็นเจ้าของตามประเพณีหรือเคยใช้หรือเคยได้รับมาก่อน (UNDRIP มาตรา 26 )
- สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาและได้รับการชดเชยที่ยุติธรรม ถูกต้องและเท่าเทียมสำหรับที่ดิน เขตแดน และทรัพยากร ซึ่งพวกเขาเป็นเจ้าของ หรือเคยครอบครองหรือใช้ประโยชน์ตามประเพณี และที่ถูกยึด ถูกเอาไป ถูกครอบครอง ถูกใช้ หรือถูกทำลายโดยปราศจากการแจ้ง รับรู้ล่วงหน้า (UNDRIP มาตรา 28)
- สิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและปกป้องสภาพแวดล้อมและศักยภาพในการผลิตของที่ดิน หรือเขตแดน และทรัพยากร ของตน (UNDRIP มาตรา 29 )
- สิทธิในการตัดสินใจและพัฒนาลำดับความสำคัญ และยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาหรือการใช้ที่ดิน เขตแดนและทรัพยากร อื่น ๆ ของตน (UNDRIP มาตรา 32)
นอกจากนี้ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองยังกล่าวถึงการไม่จัดเก็บหรือทิ้งวัตถุอัตรายในที่ดินหรือเขตแดน ของชนเผ่าพื้นเมือง (มาตรา 29) และการจำกัดไม่ให้มีกิจกรรมทางทหารเกิดขึ้นในที่ดินหรือเขตแดนของชนเผ่าพื้นเมืองอีกด้วย (มาตรา 30)
สิทธิทางวัฒนธรรม (Cultural rights)
วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองถือเป็นส่วนหนึ่งในอัตลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมือง หลายครั้งที่ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเผชิญกับการกลืนกลายทางวัฒนธรรม (cultural assimilation) หรือนโยบายที่ส่งเสริมการกลืนวัฒนธรรมและภาษาของพวกเขาให้เป็นส่วนหนึ่งของชนหมู่มาก ซึ่งเป็นการคุกคามอย่างรุนแรงต่อการดำรงอยู่ทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองอย่างต่อเนื่อง
ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองได้ให้การคุ้มครองสิทธิในวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง ดังนี้
- สิทธิในการธำรงและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันทางวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง (ข้อ 5)
- สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้ผสมกลืนกลายทางวัฒนธรรมหรือทำลายวัฒนธรรมของตน (ข้อ 8(1))
- สิทธิในการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหรือประชาชาติของชนเผ่าพื้นเมือง อันเป็นไปตามจารีตประเพณีของชุมชนหรือประชาชาติที่เกี่ยวข้อง (ข้อ 9)
- สิทธิในการปฏิบัติ และฟื้นฟูขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีและวัฒนธรรม รวมถึงการธำรง คุ้มครองและพัฒนาการแสดงออกทางวัฒนธรรมทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต เช่น แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ พิธีกรรม เทคโนโลยี ทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง วรรณกรรม เป็นต้น
- สิทธิในการควบคุมระบบการศึกษาและสถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาด้วยภาษาของตนเอง (ข้อ 14 และข้อ 15)
- สิทธิในการธำรงรักษา ควบคุมและพัฒนามรดกทางวัฒนธรรม องค์ความรู้ทางประเพณี การแสดงออกทางวัฒนธรรม (ข้อ 31)
- สิทธิในการส่งเสริม พัฒนาและธำรงรักษาโครงสร้างเชิงสถาบัน จารีตประเพณี จิตวิญญาณ ประเพณี และระบบกฎหมายของตน (ข้อ 34)
สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
- สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตตนเอง ทั้งการกำหนดสถานภาพทางการเมืองและดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของตนได้อย่างอิสระ
- สิทธิในการปรับปรุงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของตน ในด้านการศึกษา การมีงานทำ การฝึกอาชีพ ที่อยู่อาศัย สุขาภิบาลและความมั่นคงทางสังคม
- สิทธิที่จะได้รับสัญชาติ
- สิทธิในการเข้าร่วมการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิทธิของพวกเขาโดยผ่านผู้แทนที่พวกเขาเลือกขึ้นมาตามกระบวนการของตนเองในขณะเดียวกันมีสิทธิในการธํารงรักษาและพัฒนาสถาบันที่ทําหน้าที่ตัดสินใจของตนเองได้
สิทธิในการพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านและการดูแลสุขภาพ
- ชนเผ่าพื้นเมืองมีอิสระที่จะรักษาและพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านและการปฏิบัติด้านสุขภาพของตน
- สิทธิในการเก็บรักษาและปกป้องพืช สัตว์และแร่ธาตุที่เป็นยาสมุนไพรของตน
- ชนเผ่าพื้นเมืองต้องได้รับความพึงพอใจในมาตรฐานสูงสุดที่บรรลุได้ของการดูแลสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องดำเนินขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าสิทธินี้บรรลุได้
- สิทธิในการเข้าถึงการศึกษาทุกระดับและทุกรูปแบบของรัฐโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ
- สิทธิในการสถาปนาระบบการศึกษา สถาบันการศึกษา และการเปิดโรงเรียนของตนเอง รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของตนเอง ด้วยภาษาของตนเองและมีวิธีการเรียน การสอนที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมของตน
- รัฐบาลควรทำงานร่วมกับชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อให้แน่ใจว่าชนเผ่าพื้นเมืองและผู้ที่อาศัยอยู่นอกชุมชนจะได้รับการเข้าถึงการศึกษาภายใต้วัฒนธรรมและภาษาของตนเอง
ช่องทางเข้าถึงสารสนเทศและการพัฒนาสื่อ
- สิทธิในการจัดตั้งสื่อของตนเองด้วยภาษาของตนเอง รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงสื่อที่ไม่ใช่ของชนเผ่าพื้นเมืองทุกรูปแบบโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ
- รัฐจึงต้องมีมาตรการเพื่อให้แน่ใจว่าสื่อของรัฐจะสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง อีกทั้งรัฐควรจะส่งเสริมให้สื่อภาคเอกชนสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างเพียงพอและไม่มีอคติเพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก
ภาคส่วนพิเศษ
- รัฐควรให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อสิทธิและความต้องการพิเศษของชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นผู้สูงอายุ สตรี เยาวชน เด็ก และบุคคลผู้ไร้ความสามารถ เพื่อทำให้การปรับปรุงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของชนเผ่าพื้นเมืองเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
กลไกระหว่างประเทศ
ในปัจจุบันได้มีกฎหมายและกลไกระหว่างประเทศในการคุ้มครองและดูแลเรื่องสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ได้แก่
- ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (United nation Declaration on the rights of indigenous peoples – UNDRIP)
-
-
- คือเครื่องมือด้านสิทธิมนุษยชนที่ยืนยันสิทธิที่มีอยู่ทั้งหมด ครอบคลุมทั้งสิทธิส่วนบุคคลและส่วนรวม โดยเฉพาะการช่วยให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้บรรลุความยุติธรรมทางสังคม การไม่เลือกปฏิบัติและความเสมอภาคสำหรับพวกเขา ดังนั้น ปฏิญญานี้ไม่ได้มีไว้เพื่อให้สิทธิพิเศษหรืออภิสิทธิ์สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองแต่เป็นการสร้างความมั่นใจในศักดิ์ศรีของชนเผ่าพื้นเมืองเหมือนกับคนอื่น ๆ ดังนั้นกลไกของปฏิญญานี้คือการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐ เพื่อให้เกิดความคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือง
- อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the elimination of all forms of racial discrimination – ICERD)
-
-
- กล่าวถึงการกำจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติที่เป็นการจำแนก กีดกัน จำกัด หรือการเอื้ออำนวยพิเศษ ด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ สีผิว เชื้อสายหรือชาติกำเนิด หรือเผ่าพันธุ์ ดังนั้นนโยบายของรัฐที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญานี้ต้องดำเนินมาตรการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติของเชื้อชาติในทุกรูปแบบผ่านการประกันและการให้สิทธิอันเท่าเทียมกันบุคคลภายใต้กฎหมาย
- กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International covenant on economic social and cultural rights – ICESCR)
-
-
- กล่าวถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง (right of self-determination) ที่เกี่ยวกับสิทธิในการทำงาน และมีสภาพการทำงานที่เหมาะสมและเป็นธรรม สิทธิที่จะก่อตั้งสหภาพแรงงาน และสิทธิที่จะหยุดงาน สิทธิที่จะได้รับสวัสดิการและประกันสังคม การคุ้มครองและการช่วยเหลือครอบครัว สิทธิที่จะมีมาตรฐานชีวิตที่ดี สิทธิที่จะมีสุขภาวะ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่ดีที่สุดที่จะเป็นไปได้ สิทธิในการศึกษา สิทธิในวัฒนธรรมและประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
- กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International covenant on civil and political rights – ICCPR)
-
-
- สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง (right of self-determination) ในการกำหนดสถานะทางการเมืองของตนอย่างเสรี รวมทั้งดำเนินการอย่างเสรีในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมของตน และจัดการโภคทรัพย์และทรัพยากรธรรมชาติของตนได้อย่างเสรี (มาตรา 1, ICCPR)
- ในรัฐที่มีชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ศาสนาหรือภาษาอยู่ บุคคลผู้เป็นชนกลุ่มน้อยดังกล่าวจะไม่ถูกปฏิเสธสิทธิในการมีวัฒนธรรมของตนเองหรือนับถือและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตนเอง หรือใช้ภาษาของตนเองภายในชุมชนร่วมกับสมาชิกอื่นๆ ของชนกลุ่มน้อยด้วยกัน (มาตรา 27, ICCPR)
- อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC)
-
- กล่าวถึงสิทธิที่จะมีสัญชาติ และสิทธิที่จะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากบิดามารดาของตน ดังนั้นรัฐที่เป็นสมาชิกต้องทำให้แน่ใจว่าการดำเนินการของสิทธิดังกล่าวตามเป็นไปตามกฎหมายแห่งชาติภายใต้เครื่องมือระหว่างประเทศในการยืนยันและคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง
กลไกระดับภูมิภาค
คณะกรรมาธิการแอฟริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาชน (African Commission on Human and Peoples’ Rights)
คณะกรรมาธิการแอฟริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาชนมีหน้าที่ทบทวนรายงานของรัฐ และปฏิบัติภารกิจเพื่อตอบสนองต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและร้ายแรง และให้การเยียวยา
องค์การนานารัฐอเมริกัน (The Organization of American States – OAS)
องค์การนานารัฐอเมริกัน ซึ่งเป็นองค์การระหว่างรัฐบาลระดับภูมิภาค ประกอบไปด้วย 35 ประเทศในอเมริกา ได้บังคับใช้ปฏิญญาอเมริกันว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (American Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) เพื่อให้ความคุ้มครองเฉพาะสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองในอเมริกาเหนือ เม็กซิโก อเมริกากลางและใต้ และแคริบเบียน นอกจากนี้ยังมีองค์การระดับภูมิภาคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างอเมริกัน (Inter-American Commission on Human Rights)
ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างอเมริกัน (Inter-American Court of Human Rights)
สภายุโรป (Council of Europe and European) และ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (Court of Human Rights)
แม้สภายุโรปไม่มีมาตรฐานหรือกลไกเฉพาะสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง แต่อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (the Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms) ได้กำหนดหลักสิทธิมนุษยชนที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ได้แก่ หลักการไม่เลือกปฏิบัติ สิทธิในชีวิตส่วนตัวและครอบครัว และศาลยุโรปได้พัฒนาหลักกฎหมายบางประการที่เกี่ยวกับสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง นอกจากนี้ การตรวจสอบตามกลไกอนุสัญญากรอบการทำงานว่าด้วยการคุ้มครองชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ (Framework Convention for the Protection of National Minorities) และ กฎบัตรยุโรปว่าด้วยภาษาประจำภูมิภาคหรือภาษาชนกลุ่มน้อย (European Charter for Regional or Minority Languages) ยังได้ระบุข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองจากการเดินทางไปเก็บข้อมูลในประเทศต่างๆ อีกด้วย
รัฐมีหน้าที่อะไร?
เคารพ
- รัฐจะต้องรับประกันว่า รัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบายหรือมาตรการใด ๆ จะไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อชนเผ่าพื้นเมือง
ปกป้อง
- รัฐจะต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการโฆษณาชวนเชื่อที่ส่งเสริมหรือยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ต่อชนเผ่าพื้นเมือง
เติมเต็ม
- รัฐต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิผล โดยการปรึกษาหารือและความร่วมมือกับชนเผ่าพื้นเมืองที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อสู้กับอคติและขจัดการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมความอดทนอดกลั้น ความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองกับทุกภาคส่วนของสังคม
สถานการณ์สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. … (เสนอโดย สภาชนเผ่าพื้นเมือง)
-
-
- เพื่อกำหนดนิยามชนเผ่าพื้นเมือง ตั้งคณะกรรมการอาวุโสสภาชนเผ่าพื้นเมืองเป็นที่ปรึกษาของสภา ตั้งกองทุนสภาชนเผ่าพื้นเมือง และตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองเป็นกลไกหลักเพื่อคุ้มครองชาติพันธุ์ (iLaw, 2564)
- ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … (เสนอโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กระทรวงวัฒนธรรม)
-
-
- เพื่อคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ และเพื่อสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ หลักการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กลไกการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กลไกการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ การจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2564)
- ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … (เสนอโดยคณะอนุกรรมาธิการฯ ด้านผู้สูงอายุผู้พิการและกลุ่มชาติพันธ์ภายใต้คณะกรรมการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศสภาผู้แทนราษฎร)
สถานการณ์ปัจจุบัน
ในขณะที่มีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ในปัจจุบันมีเหตุการณ์ในประเทศไทยที่สิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมืองถูกละเมิด เช่น
-
-
- ชาวบ้านในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับผลกระทบจากสารปนเปื้อนในลำห้วยเนื่องจากบริษัทเอกชนที่เข้าไปทำสัมปทานเหมืองใกล้ ๆ หมู่บ้าน และส่วนภาครัฐก็ไม่ได้เข้าไปดูแลและควบคุมการดำเนินการของเอกชน และถึงแม้ว่าจะมีภาคประชาสังคมเข้าไปให้ความช่วยเหลือจนชาวบ้านชนะคดี ผลกระทบจากการปนเปื้อนในแหล่งน้ำก็ยังส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในชุมชนจนปัจจุบัน เช่น ค่าตะกั่วในเลือดที่สูง และค่าตะกั่วในเลือดของเด็ก ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของชนเผ่าพื้นเมืองในการต่อสู้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายหรือการเยียวยาจากรัฐ (ประชาไท, 2564)
-
-
- ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยบน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่ได้รับผลกระทบจาก ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ และ ‘ยุทธการตะนาวศรี’ รวมไปถึงการเผาบ้านเรือนชาวกะเหรี่ยงในปี 2554 การบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินคดีจับกุมชาวบ้าน และการบังคับโยกย้ายชาวบ้านลงมาจากบ้านบางกลอยบน โดยทางฝั่งรัฐบาลไม่ได้คิดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยไม่ได้รับการปกป้องและคุ้มครองอย่างจริงจัง อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของชนเผ่าพื้นเมืองอีกด้วย (ธันยพร บัวทอง, 2564)
-
- กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน มีชีวิตกึ่งเร่ร่อน อาศัยอยู่ในเรือไม้พื้นบ้านในทะเล ในฤดูฝนจะอพยพขึ้นฝั่ง อาศัยอยู่ในบ้านพักแบบชั่วคราว อย่างไรก็ตามเนื่องจากเงื่อนไขของรัฐชาติสมัยใหม่ ชนเผ่ามอแกนถูกบังคับให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเดินทางข้ามพรมแดนถูกทำให้เป็นความผิดทางอาญา ทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไป ยิ่งไปกว่านั้นแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกเขาถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลซึ่งมีผลกระทบต่อชาวมอแกนโดยตรง นอกจากวิถีชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนไป พวกเขายังถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผ่านการบังคับไล่รื้อ การบังคับให้อพยพไปอยู่ในที่ที่จัดสรรใหม่ที่ไม่มีคุณภาพ การไม่สามารถเข้าถึงบริการทั้งด้านสุขภาพและการศึกษา ความเสี่ยงอันตรายในการทำงาน และภาวะไร้รัฐ อีกทั้ง พวกเขายังถูกกีดกันในกระบวนการตัดสินใจที่มีผลกระทบโดยตรงกับพวกเขา และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอคติทางเชื้อชาติ ทำให้ความต้องการของพวกเขาถูกเพิกเฉย และพวกเขายังถูกดูถูกว่าไม่มีความสามารถในการทราบความต้องการของตนเองที่ดีพออีกด้วย การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง กรอบอคติที่คิดว่าชาติพันธุ์ไทยอยู่เหนือชนชาติอื่น ๆ นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมืองในท้ายที่สุด