การบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “อุ้มหาย” เป็นอีกหนึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง
ซึ่งการกระทำดังกล่าวหมายถึง การที่เจ้าหน้าที่รัฐ บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐ หรือบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้ง อนุญาต สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจในการจับกุม คุมขัง ลักพา หรือลิดรอนเสรีภาพของบุคคล และพยายามปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น ๆ นอกจากการกระทำดังกล่าว เหยื่อมักถูกทรมานด้วยวิธีการที่โหดร้ายและป่าเถื่อนอีกด้วย เหยื่อจากการบังคับบุคคลให้สูญหายส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการปล่อยตัวและถูกปกปิดชะตากรรมทำให้สังคมหรือแม้แต่ครอบครัวของพวกเขาไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ และถึงแม้ว่าพวกเขาจะรอดชีวิตออกมากได้ รอยแผลทั้งบนร่างกายและจิตใจก็ยังคงติดตัวเขาไปตลอดชีวิต
ทั้งนี้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ผู้กระทำผิดในคดีเหล่านี้มักจะลอยนวลพ้นผิด บ่อยครั้งที่ผู้สูญหายไม่ได้รับการปล่อยตัวและไม่มีผู้ทราบชะตากรรมของเขาอีกเลย จึงถือได้ว่าเป็นการละเมิดอย่างต่อเนื่องต่อสิทธิมนุษยชนของครอบครัวของเขา ซึ่งไม่มีโอกาสได้ทราบความจริงว่าผู้สูญหายอยู่ที่ไหน
หลังจากความพยายามตลอดหลายปี เราได้เห็นพัฒนาการทั้งในระดับโลกและระดับประเทศในการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยประเทศไทยในปี 2553 ได้มีการบังคับใช้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (The International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance – ICPPED) เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ICPPED ทว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการบังคับใช้ ทำให้กระบวนการร่างกฎหมายป้องกันการอุ้มหายเป็นไปอย่างล่าช้า
การบังคับบุคคลให้สูญหายได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งถูกใช้เป็นมาตรการในการปราบปรามกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่าง คดีที่เป็นที่รู้จักดี เช่น คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายที่ว่าความให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่อ้างว่าถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้รับสารภาพ ซึ่งได้หายตัวไปตั้งแต่ปี 2547 หรือคดีของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเป็นหนึ่งในพยานคดีที่ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยยื่นฟ้อง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในข้อหาเผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านให้ได้รับความเสียหาย โดยบิลลี่ได้หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557 ศพของเขาถูกพบในปี 2563 หรือกว่า 6 ปีหลังจากการหายตัวไปของเขา
จนถึงปัจจุบัน ไม่มีใครทราบตัวเลขที่แท้จริงของผู้ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Involuntary or Enforced Disappearance – WGEID) ได้มีการติดตามและตรวจสอบจำนวนผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ข้อมูลในปี 2563 ระบุว่า มีคนถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทยจำนวนกว่า 87 คน ทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สงครามยาเสพติด รวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ สถิติดังกล่าวทำให้ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีผู้ถูกบังคับสูญหายมากเป็นลำดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
การบังคับบุคคลให้สูญหายได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความหวาดกลัวต่อสังคมในวงกว้าง การกระทำอันโหดร้ายดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อสร้างบรรยากาศที่ไม่ปลอดภัย เป้าหมายที่สำคัญของรัฐในการบังคับบุคคลให้สูญหาย คือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ญาติของเหยื่อ พยาน และ ทนายความ และรวมถึงกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เช่น เด็ก และบุคคลพิการอีกด้วย การบังคับให้บุคคลสูญหายในทุก ๆ ครั้งได้ละเมิดสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน ดังนี้
สมชาย นีลไพจิตร หนึ่งในเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายของประเทศไทย
ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายมีโทษทางอาญา สำหรับกฎหมายที่จะช่วยให้มีมาตรการบังคับใช้เพื่อป้องกันการกระทำดังกล่าวได้ ขณะนี้ก็ยังคงอยู่ในชั้นการพิจารณา โดยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจนเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระสอง ตามรายมาตรา ทั้งหมด 5 หมวด 34 มาตรา และบทเฉพาะกาล อีกทั้งได้มีการลงมติในวาระสามผ่านร่าง พ.ร.บ. เห็นชอบ 359 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง ทำให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านไปยังการพิจารณาในชั้นของวุฒิสภา นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการเรียกร้องและผลักดัน พ.ร.บ. ฉบับนี้
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้ติดตามการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมาโดยตลอด เนื่องจากหากร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวถูกนำมาบังคับใช้ จะทำให้ประเทศไทยมีมาตรการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย เช่น
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันติดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ และเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายให้ไวที่สุดเพื่อคุ้มครองทุกคนในประเทศไทยจากการกระทำให้บุคคลสูญหาย และเพื่อให้ประเทศไทยมีสถานการณ์ทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้นในอนาคต