หนึ่งในภารกิจหลักของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คือการเผยแพร่คุณค่าสิทธิมนุษยชน ด้วยการเรียนรู้ “เกี่ยวกับ” สิทธิมนุษยชน “ผ่าน”กระบวนการที่เคารพสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน และ “เพื่อ” กระตุ้นให้ผู้เรียนตระหนักถึงความสำคัญและลุกขึ้นปกป้องสิทธิมนุษยชนของตนเองและผู้อื่น นั่นเป็นเหตุผลที่เราจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องทั้งในและนอกสถานศึกษากับกลุ่มผู้เรียนและประเด็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่เรารู้ดีว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนที่คนในแต่ละพื้นที่ให้ความสนใจย่อมไม่เหมือนกัน และประเทศไทยก็กว้างใหญ่เกินกว่าที่เราจะทำภารกิจนี้ได้เพียงลำพัง เราจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการขยายเครือข่ายอาสาสมัครกระบวนกรเพื่อร่วมเผยแพร่สิทธิมนุษยชนศึกษาด้วยกันไปกับเรา
นี่จึงเป็นที่มาของโครงการอบรมอาสาสมัครกระบวนกรสิทธิมนุษยชน รุ่นที่ 2 หรือ Training of Trainers (TOT) 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 ถึง 26 มีนาคม 2566 ที่บ้านผู้หว่าน จังหวัด นครปฐม โดยโครงการในปีนี้เพิ่มระยะเวลาการจัดกิจกรรมจาก 4 เป็น 5 วัน และปรับเกณฑ์อายุผู้เข้าร่วมจากเดิม 18 – 35 ปี มาเป็น 15 ปีขึ้นไป เพื่อเปิดโอกาส ให้เด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ เพราะเราเชื่อว่าคนในแต่ละช่วงวัย ย่อมมีชุดประสบการณ์และความสนใจในประเด็นสิทธิที่แตกต่างกัน เราจึงอยากให้การอบรมในครั้งนี้เป็นพื้นที่ให้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้มาร่วมแลกเปลี่ยน แบ่งปันมุมมอง องค์ความรู้ ประสบการณ์ และพัฒนาทักษะกระบวนกรไปด้วยกัน นอกจากความหลากหลายด้านอายุแล้ว ประเด็นสิทธิที่ผู้เข้าร่วมแต่ละคนสนใจก็มีความหลากหลายเช่นกัน เรามีทั้งผู้ทำงานภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิด้านผู้ลี้ภัย ชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ ความหลากหลายทางเพศ คนไร้สัญชาติ สิทธิเด็ก ครู นักเรียน นักศึกษา และนักกิจกรรมทางการเมือง จากทั่วประเทศจำนวน 20 คน
เนื้อหาการอบรม ครอบคลุมทักษะกระบวนกร เช่น ทักษะการฟัง จับประเด็น การตั้งคำถาม และการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้วย Learning Curve อีกทั้งยังมีกิจกรรมที่เสริมองค์ความรู้สิทธิมนุษยชนเรื่องอัตลักษณ์ทับซ้อน ความเหลื่อมล้ำ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ และมีช่วงให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองออกแบบ นำกระบวนกรเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียกได้ว่ามีครบทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยนอกจากทีมงานจากแอมเนสตี้ กิจกรรมในครั้งนี้ยังเป็นการร่วมจัดกับเครือข่ายภูมิภาคของแอมเนสตี้ ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมโครงการอบรมในปีที่แล้วที่ได้ออกไปจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน มาร่วมแบ่งปันทักษะ เครื่องมือการเรียนรู้ และประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีวิทยากรรับเชิญพิเศษคือ คุณพฤหัส พหลกุลบุตร จากมูลนิธิสื่อเพื่อชาวบ้าน และอาจารย์เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ความรู้ทักษะกระบวนกร และเนื้อหาสิทธิมนุษยชนแก่ผู้เข้าร่วมอีกด้วย
Learning Curve (ขอบคุณภาพจาก Inskru)
กิตติภูมิ โรจนจินดา หรือ ก่อ ผู้เข้าร่วมที่ ทำงานด้านผู้ลี้ภัยในเขตเมืองกล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้สามารถทำให้ก่อ ได้ฝึกประยุกต์ทฤษฎีหรือองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนเข้ากับงานของตน ได้ผ่านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเนื้อหาที่ตนต้องการจะสื่อสาร โดยกิจกรรมที่ก่อชอบมากเป็นพิเศษคือการฝึกทักษะการฟังและตั้งคำถามซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นกระบวนกร ก่อหวังว่าเขาจะเอาทักษะและองค์ความรู้ที่ได้จากกิจกรรมในครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้กับการลงพื้นที่ไปให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนตามต่างจังหวัด และโรงเรียนนานาชาติที่ก่อต้องทำงานด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นผู้ลี้ภัย
“เราได้ใช้ประโยชน์จากการอบรมมาวางแผนกิจกรรมว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร ควรใช้กิจกรรมอะไรในการสื่อสารกับเขาในเรื่องสิทธิผู้ลี้ภัย ถ้าเราออกแบบเครื่องมือการเรียนรู้ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย มันจะไม่ใช่แค่การสอนแล้วจบไป แต่มันจะเกิดการเรียนรู้ต่อเนื่องโดยตัวผู้เรียนเอง”
นัทธมน ศุภรเวทย์ หรือ กิ๊ฟ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่ากิจกรรมในครั้งนี้นอกจากจะได้สาระและความสนุกแล้ว เธอยังได้เรียนรู้ทักษะการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องสิทธิซึ่งมีความลึกในเชิงข้อมูลออกมาผ่านกิจกรรม และเครื่องมือการเรียนรู้ที่หลากหลาย สามารถประยุกต์ให้เหมาะสมกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและกลุ่มเป้าหมายที่เธอต้องทำงานด้วยได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ โครงการนี้ยังเป็นโอกาสให้เธอได้รู้จักคนที่ทำงานด้านสิทธิในประเด็นที่หลากหลายจากทั่วประเทศอีกด้วย
“รู้สึกว่าการได้มาค่ายนี้มันไม่ได้แค่ทักษะ แต่ยังได้รู้จักเพื่อน ๆ จากองค์กรต่าง ๆ ที่ทำประเด็นที่หลากหลายกันไป ทั้งคนที่ประเด็นใกล้ ๆ กับเราที่สามารถร่วมงานกับเราต่อได้ รวมไปถึงประเด็นอื่น ๆ ที่เราไม่ได้มีความรู้ในประเด็นนั้นมาก รู้สึกว่าค่ายนี้ ได้รวบรวมคนทำงานด้านสิทธิจากทั่วทุกสารทิศเข้ามาไว้ด้วยกัน” กิ๊ฟกล่าว
วีรวัศ ขำคม หรือ แชมป์ ผู้ทำงานด้านสิทธิ LGBTQ+ จากจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าตนรู้สึกประทับใจมากกับกิจกรรมในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องอำนาจและอัตลักษณ์เพราะทำให้แชมป์ได้ตั้งคำถามกับตัวเองและวัฒนธรรมในองค์กร ช่วยให้แชมป์จัดระบบความคิดของตัวเองได้ดีขึ้น ทำให้เพิ่มความมั่นใจและรู้สึกว่าตนก็สามารถเป็นกระบวนกรด้านสิทธิมนุษยชนได้เหมือนกัน โดยแชมป์คิดว่าจะสามารถประยุกต์ความรู้จากการอบรมไปใช้กับการทำงานกับเยาวชนที่สนใจเรื่องสิทธิ LGBTQ+ ที่เขาต้องทำงานด้วยได้เป็นอย่างดี
“มันตรงตามที่เราคาดหวังไว้เลย มันปลดล๊อคอะไรบางอย่างในตัวเรา ทำให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่เราทำ จากเมื่อก่อนที่เรารู้สึกว่าเราไม่ค่อยมีอำนาจในองค์กร เพราะเราพูดไม่เก่ง เราเลยสงสัยกับตัวเองและไม่กล้าเป็นกระบวนกรซักที การอบรมครั้งนี้มันเลยได้อะไรหลายอย่างมากๆ” แชมป์กล่าว “เวลาเราทำกระบวนการเรามักไม่ให้ความสำคัญกับการกระตุ้น เสริมพลังผู้เรียน และการสรุปกิจกรรม แต่พอเราได้ลองออกแบบมันผ่าน Learning Curve มันทำให้ผู้เรียนได้รับการกระตุ้นและรับรู้ชุดประสบการณ์ใหม่ ทำให้เขาได้ปลดล๊อคอะไรใหม่ ๆ ในตัวเองได้”
TOT 2023 เป็นอีกหนึ่งโครงการที่แอมเนสตี้ให้ความสำคัญกับการสร้างแรงบันดาลใจ และเสริมศักยภาพให้กับคนธรรมดาเพื่อที่จะขยายการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนออกไปให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ในประเด็นที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ใครสนใจ หรืออยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สิทธิมนุษยชนศึกษา ของแอมเนสตี้สามารถติดตามเราได้ที่ https://hre.amnesty.or.th/ หรือติดต่อเราได้ที่ activism.hre@amnesty.or.th
ร่วมบริจาคสนับสนุนการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้ https://www.amnesty.or.th/donate/