เดือนกันยายนและเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็น 2 เดือนที่คึกคักมากทีเดียวสำหรับงานสิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้ อินเตอร์ชั่นแนล ประเทศไทย โดยแอมเนสตี้ได้มีการจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกสถานศึกษามากถึง 13 ครั้ง ใน 7 จังหวัดทั่วไทย นอกจากนี้ยังได้มีการขยายการทำงานสิทธิมนุษยชนศึกษาไปสู่กลุ่มเด็กประถม และคนวัยทำงานอีกด้วย เพราะสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่เรื่องของนักเรียนนักศึกษา แต่เป็นเรื่องของทุกคน มาดูกันดีกว่าว่า แอมเนสตี้ ได้ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไหนกันมาบ้าง
แอมเนสตี้ประเทศไทยเปิดออฟฟิสให้นักศึกษาเข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้การทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยในครั้งนี้ มีนักศึกษาแลกเปลี่ยนจำนวน 7 คน จาก Stenden University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีวิทยาเขตในประเทศไทย มาเยี่ยมชมออฟฟิสแอมเนสตี้ และได้เรียนรู้เรื่องงานรณรงค์ต่างๆ ของแอมเนสตี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมให้เหยื่อของการบังคับสูญหาย เยาวชนที่เสียชีวิตในการชุมนุม และยังได้ร่วมแคมเปญ ปล่อยเพื่อนเรา หรือ #FreeRatsadon ผ่านการเขียนจดหมายให้กำลังใจนักโทษทางความคิด และผู้ที่ยังอยู่ในเรือนจำจากการใช้เสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และร่วมลงชื่อในปฏิบัติการด่วน เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนที่ใช้เสรีภาพการแสดงออกอีกด้วย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รับเชิญจากสมาคมผู้ดูแลไทย ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ที่ทำงานกับผู้มีประสบการณ์ทางจิตเวช ให้ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในหัวข้อความรู้พื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน และทักษะงานรณรงค์ โดยกิจกรรมมีทั้งการทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน อัตลักษณ์ทับซ้อน และทำความเข้าใจการกดทับและการตีตราทางสังคมผู้มีประสบการณ์ทางจิตเวชต้องประสบ อีกทั้งยังมีการทดลองออกแบบงานรณรงค์เพื่อให้สังคมปฏิบัติต่อผู้มีประสบการณ์ทางด้านจิตเวชอย่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ส่งท้ายเดือนกันยายนด้วย 3 ห้องเรียนที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยแอมเนสตี้ได้รับเชิญจากอาจารย์ภาควิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาจากสามรายวิชา ในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนกับรัฐธรรมนูญ” “การเขียนบทวิทยุโทรทัศน์ผ่านมุมมองสิทธิมนุษยชน” และ “การสื่อสารเชิงรณรงค์” ร่วมกับวิทยากรรับเชิญจาก iLaw โดยนอกจากผู้เรียนจะได้รับความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ยังทดลองออกแบบ บทสัมภาษณ์ และกิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
นอกจากเจ้าหน้าที่ประจำฝ่ายนักกิจกรรมและสิทธิมนุษยชนศึกษาแล้ว แอมเนสตี้ยังมีเครือข่าย อาสาสมัครกระบวนกรสิทธิมนุษยชน ซึ่งผ่านการอมรมทักษะกระบวนกร (Training of Trainers 2023) กับทางแอมเนสตี้ เป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษาทั่วประเทศ โดยอาสาสมัคร 2 คนได้ร่วมกันจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนให้กับนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ราชภัฎลำปาง จำนวน 27 คน โดยผู้ร่วมกิจกรรมเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน อัตลักษณ์ ความเหลื่อมล้ำ และอำนาจทางสังคมในหลากหลายมิติ
แอมเนสตี้ได้รับเชิญจากวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ไปจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนในสองรายวิชาได้แก่ “เศรษฐกิจและการเมืองไทย” และ “ขบวนการประชาสังคม” ให้กับนักศึกษาสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน โดยเนื้อหาในวิชาแรก มีการพูดถึง นิยาม หลักการ คุณค่า และประวัติความเป็นมาของแนวคิดสิทธิมนุษยชน และการประยุกต์มุมมองด้านสิทธิมนุษยชนเข้ากับข้อถกเถียงในสังคมไทย ผ่านการแลกเปลี่ยนประเด็นทางสังคมต่างๆ เช่นการยกเลิกชุดนักศึกษา กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ และโทษประหารชีวิต ส่วนอีกวิชา มีเนื้อหาหลักคือรูปธรรมการทำงานของภาคประชาสังคม โดยมีแอมเนสตี้ ประเทศไทย เป็นกรณีศึกษา
แอมเนสตี้ ประเทศไทยได้ไปร่วมม่วนจอยในเทศกาลตุลามาแอ่ว ณ ร้าน Velar อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีทีมอาสาสมัครจาก Knack และผู้เข้าร่วมทั้งคุณครู, นักเรียน ผู้สนใจทั้งในอำเภอเชียงดาวและอำเภอเมืองเชียงใหม่ และจากจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมเรียนรู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานผ่านการแลกเปลี่ยน พูดคุยผ่านการเล่นเกมเส้นสิทธิฯ กับคำถามชวนท้าทาย และบอร์ดเกม Peace so crazy
แอมเนสตี้ได้รับเชิญจาก มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ให้ไปร่วมจัดค่ายเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ซึ่งเป็นค่ายที่รวบร่วมนิสิตนักศึกษาที่มีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชนจากทั่วประเทศ โดยทีมงานของแอมเนสตี้ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน อัตลักษณ์ทับซ้อน และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ภายในค่ายยังมีกิจกรรม ชุมชนในฝัน ซึ่งพาผู้เข้าร่วมไปเรียนรู้ความสึกของชาวที่ถูกละเมิดสิทธิที่ดินและที่ทำกินจากการลงทุนขนาดใหญ่ และปิดท้ายด้วยกิจกรรม หนังสือพิมพ์อนาคตซึ่งให้ผู้เข้าร่วมช่วยกันออกแบบ ภาพประเทศไทยในอีกสิบปีข้างหน้าที่พวกเขาอยากจะเห็น บางคนอยากเห็นประเทศไทยมีน้ำประปาที่สะอาดดื่มได้ทั่วประเทศ อยากเห็นสามจังหวัดชายแดนใต้กลับคืนสู่ความสงบสุขและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว อยากเห็นการแต่งกายแบบไร้เพศกลายเป็นแฟชั่นใหม่ เรียกได้ว่าเป็นค่ายที่นอกจากจะได้ความรู้แล้วยังเป็นการเติมพลัง ความหวัง และความฝัน ในการสร้างสังคมที่ดีกว่าให้กับผู้เข้าร่วมทุกคนได้ด้วย
ฝ่ายกิจการนิสิตหลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญแอมเนสตี้ ประเทศไทยไปร่วม้จัดกิจกรรม CU Book Club เพื่อสร้างพื้นที่การสนทนาเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านวงอ่านหนังสือ และแลกเปลี่ยนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากหลากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน บังคลาเทศ ปากีสถาน และอียิปต์ โดยหนังสือที่แต่ละคนเลือกเข้ามาแลกเปลี่ยนมีทั้งรูปแบบวรรณกรรม นิยาย เรื่องสั้น ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ ไปจนถึงนิทานคลาสสิกอย่างซินเดเรลล่า นำไปสู่การสนทนาประเด็นสิทธิมนุษยชนที่หลากหลายหัวข้อไม่ว่าจะเป็นสีผิว เพศสภาพ และการเลือกปฏิบัติ
นักศึกษาจากคณะสังคมสงเคราะห์ ได้แวะมาเยี่ยมออฟฟิสแอมเนสตี้ เพื่อเรียนรู้การทำงานของภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ ประเทศไทย โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ เพื่อใช้พิจารณาสถานที่ฝึกงานในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาอินโดนิเซียจากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ Satya Wacana Univerisity ที่สนใจมาเรียนรู้การทำงานของแอมเนสตี้อีกด้วย โดยนอกจากจะได้เรียนรู้การทำงานของภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและระดับสากลแล้ว นักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัยยังได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนคติ และมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างเจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ และพูดคุยถึงอุปสรรค ข้อท้าทายของการทำงานภาคประชาสังคมในประเทศไทยอีกด้วย
แอมเนสตี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติจาก ภาควิชาปรัญชา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ ให้ไปเป็นวิทยากรร่วมสอนในรายวิชาสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งครึ่งหลังของภาคการศึกษา หมายความว่า หลังจากการสอบมิดเทอม นักศึกษาที่ลงเรียนในรายวิชาดังกล่าว จะได้เข้าร่วมห้องเรียนสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ตลอดทั้งภาคการศึกษา ต่อเนื่องกันถึง 10 คลาส ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาที่มีความต่อเนื่องระหว่างแอมเนสตี้ ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยในเดือนตุลาคม ได้มีการจัดห้องเรียนไปแล้ว 3 คลาสด้วยกัน ในเรื่องความรู้พื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม และ สิทธิของเด็กในการมีส่วนร่วมทางการเมือง
แอมเนสตี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติจากคณะนิเทศศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหดิล ให้ไปบรรยายในหัวข้อทักษะการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน และการรณรงค์บนโลกดิจิตอล โดยนอกจากแบ่งปันประสบการณ์ทำงานให้กับนักศึกษาแล้ว ยังมีการต่อยอดไปสู่กับทำโปรเจคต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ เขียน เปลี่ยน โลก โดยนักศึกษาจะต้องประยุกต์องค์ความรู้ด้านการสื่อสาร และผลิตออกมาเป็น สื่อเพื่อการรณรงค์ ภายใต้โครงการดังกล่าว เรียกได้ว่านอกจากจะได้ความรู้จากห้องเรียนสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้แล้ว แล้วยังได้ลงมือปฏิบัติจริงอีกด้วย
แอมเนสตี้ประเทศไทยร่วมกับ เครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่ และที่สำคัญครูเจษจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา บ้านเปาดงยาง ที่เปิดพื้นที่การเรียนรู้ ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง บ้านเปาปมดงยาง ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์อาข่าและไทใหญ่ มีเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่จำนวน 32 คน เข้าร่วมกิจกรรมห้องเรียนสิทธิมนุษยชน โดยมี กิจกรรมสำหรับเยาวชน เน้นการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ผ่านกระบวนการเล่นเกมส์ พูดคุยแลกเปลี่ยน และขณะเดียวกันก็มีวงคลีนิคให้คำปรึกษา โดยทีม ตี่ตาง-Titang สื่อกลางเพื่อการเข้าเข้าถึงกระบวนการการยื่นขอรับรองสัญชาติไทยซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากและพบว่ายังคงมีประชากรตกสำรวจ ยังไม่ได้สถานะบุคคล ทั้งที่หลายคนยื่นขอสถานะมาเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม
เมื่อรวมห้องเรียนทั้งหมด ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง ตุลาคม 2566 มีผู้ร่วมห้องเรียนสิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้ประเทศไทย มากถึง 1013 คนเลยแหละ หากใครอยากร่วมกิจกรรมห้องเรียนสิทธิมนุษยชนกับแอมเนสตี้ประเทศไทย ไม่ว่าคุณจะเป็น อาจารย์ นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน สามารถติดต่อเราได้ที่ activism.hre@amnesty.or.th