เมื่อเราได้ยินคำว่า security training เราอาจจะแปลมันเป็นภาษาไทยได้ว่า “การฝึกอบรมความปลอดภัย” โดยจินตนาการของคนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำนี้ก็มักจะนึกถึงการรับมือ และประเมินความเสี่ยงด้านกายภาพในรูปแบบต่าง ๆ เช่นความปลอดภัยในพื้นที่การชุมนุม หรือแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทยที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการคุกคามหรือความกดดันจากรอบด้าน เพียงเพราะแค่พวกเขาออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเราทุกคน ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียกลายมาเป็นช่องทางหลักที่ชุมชนนักกิจกรรมใช้เพื่อสื่อสารประเด็นของตนสู่สาธารณะ การอบรมความปลอดภัยจึงต้องครอบคลุมถึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้อินเตอร์เน็ต และการใช้ชีวิตบนโลกดิจิตอลด้วย
อย่างไรก็ตาม คำว่า security นอกจากจะมีความหมายว่า “ความปลอดภัย” แล้ว ยังมีความหมายถึง “ความมั่นคง” อีกด้วย และการที่คนคนหนึ่งจะมีความรู้สึกมั่นคงได้นั้น นอกจากจะต้องรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยในทางกายภาพแล้ว การมีสุขภาวะทางด้านจิตใจที่ดีและสมดุลก็เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ด้วยเช่นกัน ด้วยฐานคิดดังกล่าว แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยร่วมกับบ้านฟื้นจึงได้จัดกิจกรรม “อบรมความปลอดภัยรอบด้านและการรับรู้เพศวิถีกับสุขภาวะองค์รวม” ขึ้นระหว่างวันที่ 7 ถึง 9 ตุลาคม ที่จังหวัดขอนแก่น ให้กับชุมชนนักกิจกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 20 คน ซึ่งเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอยู่ในหลากหลายพื้นที่
เนื้อหาในการอบรมครั้งนี้แบ่งออกได้เป็นสามหัวข้อใหญ่ หัวข้อแรกคือมั่นคงปลอดภัยทางกายภาพ โดยมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมสามารถประเมินความเสี่ยง การเพิ่มความปลอดภัยในการเคลื่อนไหว ห้องเรียนสิทธิมนุษยชน และข้อกฎหมาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจสิทธิและเสรีภาพของตนตามหลักสากล และนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวทางสังคม หัวข้อที่สองคือด้านดิจิตัลเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงาน และการเดินทางของข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ต และวิธีการเพิ่มความปลอดภัยทางดิจิตัลผ่านการใช้แอพพลิเคชั่น และเทคโนโลยีต่าง ๆ
หัวข้อสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กันคือความมั่นคงปลอดภัยทางด้านจิตใจ โดยเนื้อหาส่วนนี้ให้ความสำคัญกับการประเมินสภาพจิตใจของผู้เข้าร่วมแต่ละคน และการตระหนักรู้สุขภาวะภายในของตนเอง เช่นระดับความเครียด สภาวะหมดไฟ (burnout) และการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสุขภาวะ นอกจากนี้ในแต่ละวันหลังอาหารมื้อกลางวันยังมีกิจกรรม ยืดเหยียดให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกการนอน และผ่อนคลายร่างกายของตัวเอง เพราะการพักผ่อนคือพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดี
โดยภาพรวมแล้วกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มพูนทักษะและองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยให้กับผู้เข้าร่วมแล้ว ยังเป็นโอกาสให้นักกิจกรรมได้มีโอกาสทบทวน และฟื้นฟูสภาพจิตใจของตัวเองอีกด้วย เพื่อการทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมั่นคงและปลอดภัยต่อไปในอนาคต