เด็กและเยาวชน คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนเสียงจากอนาคต แต่คือผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการทำงานเพื่อส่งเสริม เผยแพร่ และสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชน โดยหนึ่งใน เครือข่ายที่เราอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักในบทความนี้คือชมรมแอมเนสตี้ หรือ Amnesty Club ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาต่างๆ ตั้งแต่ระดับมัธยมไปจนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อทำกิจกรรมเชิงรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลับจากโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5 คลับ จาก 5 โรงเรียนทั้งในกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต วันนี้แอมเนสตี้มาชวนดูกันดีกว่าว่าคลับต่างๆนั้นพวกเขามีความสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนเรื่องใด และทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง
แอมเนสตี้คลับโรงเรียน Ruamrudee International School (RIS) ร่วมกับคลับจากโรงเรียน Bangkok Pattan School (BPS) ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อชุมชนผู้ลี้ภัยในเขตเมือง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 โดยกิจกรรมมีทั้งการนำเงินที่ได้จากการทำระดมทุนมาซื้อผ้าอนามัยแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้จำนวน 20 ชิ้น มอบให้กับชุมชนผู้ลี้ภัย และได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นวัยรุ่น อายุไล่เลี่ยกันกับสมาชิกแอมเนสตี้คลับทั้งสองโรงเรียน โดยกิจกรรมที่ทำคือการปลูกผักในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด หรือ Urban Farming ซึ่งเป็นหนึ่งในอาชีพเสริมที่ครอบครัวของผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ทำในชีวิตจริง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม ระบายสีและตกแต่งถุงผ้าโดยการสนับสนุนด้านอุปกรณ์การตกแต่งจากแอมเนสตี้ ประเทศไทยอีกด้วย เรียกได้ว่านอกจากจะมีการระดมทุนสนับสนุนชุมชนผู้ลี้ภัยแล้ว ยังเป็นโอกาสให้เยาวชนจากโรงเรียนนานาชาติ และชุมชนผู้ลี้ภัยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอีกด้วย
หนึ่งในนักเรียนจาก RIS ที่เป็นทั้งผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า เธอรู้สึกทั้งตื่นเต้น ประหม่า และภูมิใจไปพร้อม ๆ กัน เพราะพวกเธอทำงานกันอย่างหนักเพื่อจัดกิจกรรมในครั้งนี้ แม้ว่าระหว่างการทำกิจกรรมจะมีอุปสรรคด้านภาษา
เธอกล่าวว่าเธอรู้สึกสะเทือนใจ เมื่อเธอถามเพื่อนผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นเหมือนกับเธอว่าเขาได้เรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนไหม คำตอบที่ได้คือเขาไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะไปโรงเรียน เนื่องจากไม่มีเอกสารรับรองจากรัฐบาลไทย เขาจึงได้รับการศึกษาจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และโบสถ์ศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่เขาก็มีความฝันที่อยากจะเล่นฟุตบอลในสนามของโรงเรียนเหมือนนักเรียนทั่วไป และเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสักวันหนึ่ง
“เด็กคนนั้นเล่าว่าเขาเคยได้ยินว่าในโรงเรียนจะมีสนามฟุตบอล และเขาอยากเล่นฟุตบอลในสนามแบบนั้นสักวันหนึ่ง ฉันเคยคิดว่าโรงเรียนของฉันมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายจนลืมไปว่าวัยรุ่นผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ได้เข้าถึงโอกาสดีๆ ในชีวิตแบบที่ฉันมี”
เธอกล่าวต่อว่า โดยภาพรวมแล้วกิจกรรมในครั้งนี้ได้เปิดหูเปิดตาเธอมาก ทั้งทำให้เธอได้ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ และปัญหาที่ผู้ลี้ภัยในไทยต้องเผชิญ แต่แม้จะรู้สึกไม่ปลอดภัยในการอยู่ในประเทศไทย พวกเขาก็ยังต้องพยายามหาเลี้ยงชีพและดูแลครอบครับของเขาเท่าที่พวกเขาพอจะทำได้ เธอดีใจที่เห็นว่าผู้ลี้ภัยรู้สึกสนุกและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมร่วมกับพวกเธอ
“เราหวังว่ากิจกรรมที่พวกเราทำจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา และหวังว่าเราจะยังคงติดต่อกันเพื่อเฝ้าดูพวกเราเติบโตไปด้วยกัน” นักเรียน RIS กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 แอมเนสตี้คลับ โรงเรียน International School Bangkok (ISB) ได้จัดกิจกรรม Light Up Night ซึ่งเป็นกิจกรรมใหญ่ประจำปีของคลับที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนภายในโรงเรียน โดยเป็นกิจกรรมที่ผสมผสานระหว่างการแสดงศิลปะ วงดนตรี การเปิดร้านขายของระดมทุน โดยร้านของแอมเนสตี้คลับ ISB ได้ทำบราวนี่ขาย พร้อม ๆ กับเชิญชวนผู้ร่วมงานทำกิจกรรมเขียนเปลี่ยนโลก หรือ Write for Rights ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อสิทธิของผู้ลี้ภัย และปัญหาการแสวงประโยชน์จากเด็ก (child exploitation) ในประเทศไทย โดยผู้ร่วมเสวนาจากมูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก ในส่วนของเสวนาเรื่องผู้ลี้ภัย แอมเนสตี้ ประเทศไทยได้ติดต่อกับผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานมาเป็นผู้ร่วมเสวนาของแอมเนสตี้เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในระหว่างการเสวนา ผู้ลี้ภัยคนดังกล่าวเล่าว่า เขาและครอบครัวนับถือศาสนาคริสต์ทำให้มีปัญหากับเจ้าที่ดินซึ่งเป็นชาวมุสลิมมาโดยตลอด โดยเหตุการณ์ที่ทำให้เขาและครอบครัวต้องหลบหนีออกจากประเทศเกิดจากการที่เจ้าที่ดินคนดังกล่าวกล่าวหาว่าเขาหมิ่นศาสนาอิสลามซึ่งมีโทษสูงถึงติดคุกตลอดชีวิตในปากีสถาน เขาจึงตัดสินใจหนีมาประเทศไทยในปี 2014 เพื่อหวังจะขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อผู้ลี้ภัย (UNHCR) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่จนถึงทุกวันนี้เขาก็ยังไม่ได้รับสถานะดังกล่าว ทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เคยถูกคุกคาม และรีดสินบนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย เขากล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้เยาวชนตระหนักในความสำคัญเรื่องสิทธิผู้ลี้ภัย และให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในไทยเท่าที่พวกเขาทำได้ เช่นการให้ทุนการศึกษากับบุตรหลานของผู้ลี้ภัย เพราะเป็นเรื่องที่ยากมาก ที่ลูกของผู้ลี้ภัยจะได้รับการศึกษาในโรงเรียนปกติของรัฐ เนื่องจากกำแพงทางด้านภาษา และการไม่มีเอกสารรับรองสถานะอย่างถูกกฎหมายจากรัฐไทย
หลังจบวงคุยเรื่องผู้ลี้ภัย วงคุยต่อมาก็ยังคงเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือเรื่องสิทธิเด็ก โดยทาง ISB ได้เชิญตัวแทนจากมูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก (FACE foundation) เพื่อมาเล่าถึงปัญหาการแสวงหาประโยชน์จากเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบันซึ่งมีโนวแน้มสูงขึ้นในโลกดิจิตัล รวมถึงแนะนำวิธีการป้องกันตัวเองจากการแสวงหาประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเพศ ทั้งในโลกออนไลน์และในชีวิตจริงอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า ชุมชนแอมเนสตี้คลับจากโรงเรียนนานาชาติ แม้จะมาจากต่างโรงเรียน แต่ก็มีความสนใจร่วมกันในประเด็นสิทธิมนุษยชนระดับสากล อย่างสิทธิผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ประเด็นอื่น ๆ อย่างเช่น ความหลากหลายทางเพศ ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาร์ ยูเครน หรือความเป็นธรรมจากความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ล้วนแล้วแต่อยู่ในความสนใจของสมาชิกแอมเนสตี้คลับจากทั่วประเทศทั้งสิ้น เรียกได้ว่า แม้จะเป็นเด็กและเยาวชนอยู่ พวกเขาก็สามารถลุกขึ้นมาสร้างเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ดีกว่าได้เหมือนกัน
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องสิทธิผู้ลี้ภัยได้ที่: https://www.amnesty.or.th/our-work/refugees/
สนใจเป็นสมาชิกแบบกลุ่มหรือแอมเนสตี้คลับติดต่อได้ที่ membership@amnesty.or.th