สิทธิมนุษยชนศึกษาคือรากฐานของสังคมที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยชนศึกษามีหลักการสำคัญอยู่สามอย่างคือ การเรียนรู้ “เกี่ยวกับ (about)” สิทธิมนุษยชน “ผ่าน (through)” กระบวนการที่เคารพสิทธิมนุษยชน และ “เพื่อ (for)” นำไปสู่การปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งของตนเองและผู้อื่นในสังคม ด้วยแนวคิดดังกล่าว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงจัดค่ายอบรมกระบวนกรสิทธิมนุษยชน (Training of Trainers หรือ ToT) ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกระบวนกรรุ่นใหม่ที่จะออกไปเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่แปลกใหม่และด้วยเนื้อหาที่สอดรับกับประเด็นสิทธิมนุษยชนของแต่ละพื้นที่ การอบรม ToT ในสไตล์ของแอมเนสตี้จะมีเนื้อหาและรูปแบบอย่างไรบ้าง บทความนี้จะมาเล่าให้ทุกคนฟัง
บรรยากาศ ToT ที่ The Pine Resort
ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ตลอดจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2565แอมเนสตี้ได้จัดงาน ToT ไปถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ถึง 30 กรกฎาคม 2565 ณ The Pine Resort จังหวัดปทุมธานี โดยแอมเนสตี้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดกิจกรรม ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เช่น สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล บ้านฟื้น มูลนิธิเพื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เป็นต้น โดยภายในการอบรม 4 วัน 3 คืนนี้ มีวิทยากรแวะเวียนเข้ามาให้ความรู้มากถึง 15 คน การอบรมในครั้งนี้มีกลุ่มคนที่มีทักษะและประสบการณ์การเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้หรือกระบวนกรจากทั่วประเทศจำนวน 24 คนเข้ามาเรียนรู้ เสริมทักษะและเพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน และอัตลักษณ์ทับซ้อน (intersectionality) ในแง่ของทักษะกระบวนกร การอบรมนี้ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ การวางแผน ไปจนถึงการนำไปปฏิบัติจริง โดยผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนได้มีโอกาสออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของตัวเองและฝึกเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมจริง ๆ ในกระบวนการที่ตนออกแบบ
นอกจากนี้ ยังมีห้องเรียนคู่ขนานตามความต้องการของผู้เรียน โดยมีทั้งห้องเรียนที่ช่วยเพิ่มไอเดียการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และห้องเรียนที่เสริมองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน เช่นกิจกรรม ละครแทรกสดเพื่อการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง จัดโดยกลุ่ม Community-D ห้องเรียนการสื่อสารอย่างสันติวิธี หรือ Non-violence communication จัดโดยนักกิจกรรมบำบัดจากบ้านฟื้น กิจกรรมการปรับกฎหมายมาปรับทัศนคติให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ จัดโดยเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายจาก iLaw และการเป็นกระบวนกรที่มีมิติทางจิตวิญญาณ โดยอาจารย์อันธิฌา แสงชัย
กิจกรรม ละครเพื่อการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง โดยกลุ่ม Community-D
สำหรับกิจกรรม ToT ครั้งที่สอง จัดขึ้นที่ Chestnut Hill Eco Resort อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 26 ถึง 28 สิงหาคม 2565 โดยเป็นการจัดงานร่วมกันระหว่างแอมเนสตี้และกลุ่ม Law Long Beach (LLB) ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมและการเมืองจากมหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นนักกิจกรรม LLB และสมาชิกแอมเนสตี้คลับจาก ม.อ. วิทยาเขตปัตตานีด้วย โดย ToT ครั้งนี้ผู้เข้าร่วมเป็นผู้ที่มีความสนใจในประเด็นทางสังคม การเมืองและสิทธิมนุษยชนอยู่ก่อนแล้วเป็นพื้นฐาน และต้องการเสริมทักษะการเป็นกระบวนกรเพื่อเผยแพร่สิทธิมนุษยชนศึกษาต่อไปในอนาคต เนื้อหาของการอบรมในครั้งนี้จึงเป็นมุ่งเน้นไปที่ทักษะกระบวนกรเป็นหลัก ทั้งการออกแบบ การวางแผน ทักษะการฟังเพื่อจับประเด็น การถอดบทเรียน และการประเมินผล และที่ขาดไม่ได้คือการได้ทดลองเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมที่ตนออกแบบเอง
บรรยากาศ ToT ที่ Chestnut Hill Eco Resort
การออกแบบกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมีความท้าทาย และความละเอียดอ่อนกว่ากระบวนการเรียนรู้ทั่ว ๆ ไป นอกจากกระบวนกรจะต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านสิทธิที่แข็งแรงแล้ว ยังต้องสะท้อนมิติด้านสิทธิออกมาผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วย เช่น การมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระบวนกรและผู้ร่วมกิจกรรม การดำเนินกิจกรรมโดยไม่มีการละเมิดสิทธิ หรือล้อเลียนอัตลักษณ์ของผู้เข้าร่วมผ่านทางกาย วาจา ตลอดกระบวน หรือแม้กระทั่งการคิดกิจกรรมละลายพฤติกรรม ก็ควรจะสอดรับกับเนื้อหา และรูปแบบกิจกรรมที่กำลังจะตามมา ยกตัวอย่างเช่น หากต้องจัดกิจกรรมในตอนเช้ารูปแบบกิจกรรมก็ควรจะเป็นการเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมขยับร่างกายเพื่อสลัดความงัวเงียทิ้งไปก่อนจะเริ่มเข้ากิจกรรมที่ต้องใช้สมองหนัก ๆ อย่างการฟังบรรยาย หรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใน ขณะเดียวกันก็ต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการแตะเนื้อต้องตัว หรือการเอาผู้ร่วมกิจกรรมมาล้อเลียนต่อหน้าเพื่อน ๆ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ หากกระบวนกรขาดความตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน กระบวนกรที่ดีจึงควรจะต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอย่างรอบด้าน นอกจากต้องรู้ว่าเนื้อหาที่จะสอนคืออะไรแล้ว ยังต้องรู้ด้วยว่ากิจกรรม จะจัดขึ้นช่วงเวลาใด มีระยะเวลานานแค่ไหน ผู้ร่วมกิจกรรมเป็นใคร ความคาดหวังของพวกเขาคืออะไร สถานที่จัดเหมาะกับการทำกิจกรรมรูปแบบใดบ้าง สามารถใช้ร่างกายหรือพื้นที่ได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อคำนึงถึงองค์ประกอบเหล่านี้แล้ว เราจึงจะได้คำตอบว่าควรออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้อย่างไร
กิจกรรมทดลองออกแบบกระบวนการเรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยกระบวนกรในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้คือสิ่งที่เราเรียกว่า Learning Curve หรือ เส้นทางการเรียนรู้ ที่ควรจะเริ่มจากการเรียกความพร้อม (Intro) ซึ่งอาจจะเป็นกิจกรรมละลายพฤติกรรม สันทนาการ การเช็คระดับพลังงาน หรือความพร้อมในการเรียนรู้ของผู้ร่วมกิจกรรม จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงการกระตุ้นความคิด (Stimulate) ซึ่งอาจจะทำผ่านการแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เป็นหัวข้อสำคัญของการเรียนรู้ แล้วจึงเข้าสู่ช่วงประสบการณ์การเรียนรู้ (Learning Experience) หรือกิจกรรมหลัก หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงสรุปเนื้อหากิจกรรม (Conclusion) และการถอดบทเรียนเพื่อนการนำไปประยุกต์ใช้ (Apply)
Learning Curve (ขอบคุณภาพจาก Inskru)
แน่นอนว่าการเป็นกระบวนกรนั้นไม่ใช่อะไรที่จะเป็นกันง่าย ๆ ผ่านการลองทำเพียงครั้งเดียว การร่วมกิจกรรม ToT ก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่าผู้เข้าร่วมจะสามารถเป็นกระบวนกรมืออาชีพได้ในทันที แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และทดลองฝึกสำหรับผู้ที่สนใจการเป็นกระบวนกร และเป็นพื้นที่แห่งการค้นหาตัวเอง แอมเนสตี้ ประเทศไทยจึงต้องการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในลักษณะนี้ควบคู่กับการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาในสังคมไทยต่อไป ผู้ที่สนใจอบรมกระบวนกรสิทธิมนุษยชน หรือการจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนในรูปแบบอื่น ๆ สามารถติดตามเราได้ที่ แฟนเพจ Amnesty International Thailand หรือหากองค์กรของท่านสนใจให้เราไปจัดกระบวนการเรียนรู้สามารถติดต่อเราได้ที่ activisim.hre@gmail.com
หรือสามารถบริจาคเพื่อสนับสนุนงานสิทธิมนุษยชนศึกษาของเราได้ที่: https://www.amnesty.or.th/donate/
#AmnestyHRE #HREthatMatters