สิทธิเด็ก (Child Rights)
สิทธิเด็ก เป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กใช้คำว่า “สิทธิติดตัวตั้งแต่กำเนิด” (inherent rights) ดังนั้นเด็กจึงมีสิทธิที่ไม่มีผู้ใดสามารถไปตัดทอนหรือจำกัดการใช้สิทธิอันชอบธรรมของเด็กหรือละเมิดสิทธิของเด็กได้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กำหนดพันธกรณีให้ประเทศภาคีสมาชิกต้องคุ้มครองสิทธิเด็กโดยแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 4 ประเภท ได้แก่
อนุสัญญาฯ กำหนดว่ารัฐภาคีต้องรับรองว่าเด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดที่จะมีชีวิตและต้องประกันอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ให้เด็กสามารถอยู่รอด ปลอดภัยและมีพัฒนาการ และเด็กมีสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูไม่ว่าโดยบิดา มารดา ญาติพี่น้องหรือรัฐ เพื่อให้อยู่รอดและเจริญเติบโต มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีเพียงพอ ซึ่งหากครอบครัวไม่สามารถจะดำเนินการได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ รัฐต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองจากการถูกทำร้ายทางร่างกาย จิตใจและทางเพศ ซึ่งรวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศหรือการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จากเด็ก
อนุสัญญาฯ เน้นการเลี้ยงดูเด็กโดยบิดามารดาหรือในบางกรณีโดยรัฐ ซึ่งเด็กมีสิทธิที่จะมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่เพียงพอต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ศีลธรรมและทางสังคม อีกทั้งยังเน้นว่าเด็กมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาเพื่อให้เด็กได้พัฒนาบุคลิกภาพ ความสามารถพิเศษและความสามารถทางร่างกายและจิตใจของเด็กให้เต็มศักยภาพของเด็กแต่ละคน
อนุสัญญาฯ เน้นถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเด็กโดยเสรีในทุกเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก รวมถึงอิสระในการแสวงหา ได้รับหรือส่งต่อข้อมูลและความคิดในทุกรูปแบบและในสื่อทุกประเภท เด็กมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและศาสนา สิทธิในการมีส่วนร่วมนี้หมายรวมถึงสิทธิของเด็กในการชุมนุม การสมาคมโดยสงบ
กฎหมายระหว่างประเทศและหลักการพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง
กฎหมายภายในประเทศ
หลักการทั่วไปอื่นๆ
การไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination)
มาตรา 2 ของ CRC ระบุว่า เด็กจะต้องได้รับการเคารพ ปกป้อง คุ้มครองสิทธิโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่ง เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ต้นกำเนิดทางชาติพันธุ์ หรือสังคม ฐานะ ความทุพพลภาพ การเกิด หรือสถานะอื่น ๆ ของเด็ก หรือ บิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย
นอกจากนี้ การไม่เลือกปฏิบัติ ในเรื่องการเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม ไม่ได้หมายถึงการปฏิบัติต่อเด็กเหมือนกันทั้งหมด แต่รัฐจะต้องใช้มาตรการพิเศษเพื่อลดหรือขจัดเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เช่น การมีนโยบาย หรือมาตรการพิเศษเพื่อให้เด็กพิการ ชนกลุ่มน้อย ชนเผ่าพื้นเมือง ผู้อพยพที่เป็นเด็ก เข้าถึงสิทธิได้อย่างเท่าเทียมกับเด็กกลุ่มอื่นๆ เป็นต้น
หลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก (best interests of children)
ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นลำดับแรกในทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันสังคมสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชน ศาล หน่วยงานฝ่ายบริหารหรือองค์กรนิติบัญญัติ (มาตรา 3 วรรค 1, CRC)
หน่วยงานหรือสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการจะต้องใช้หลักผลประโยชน์สูงสุดมาพิจารณาว่าสิทธิและผลประโยชน์ของเด็กได้รับผลกระทบหรือจะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจและการกระทำของหน่วยงานเหล่านี้อย่างไร เช่น กฎหมายหรือนโยบายที่เสนอ หรือที่มีอยู่ หรือการดำเนินการทางปกครองหรือคำตัดสินของศาลรวมถึงการกระทำที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเด็ก แต่ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเด็ก (มาตรา 3 วรรค 2, CRC)
ผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก บนพื้นฐานการประเมินองค์ประกอบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของเด็กในสถานการณ์เฉพาะ องค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาในการประเมินและกำหนดผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ได้แก่ 1) ความเห็นของเด็ก 2) อัตลักษณ์ของเด็ก 3) การรักษาสภาพแวดล้อมของครอบครัวและการรักษาความสัมพันธ์ 4) การดูแล ปกป้อง และความปลอดภัยของเด็ก 5) สถานการณ์ความเปราะบาง 6) สิทธิในสุขภาพของเด็ก และ 6) สิทธิในการศึกษาของเด็ก โดยแต่ละองค์ประกอบต้องพิจารณาตามแต่ละกรณี เช่น การรักษาสภาพแวดล้อมของครอบครัวอาจขัดแย้งกับความจำเป็นในการปกป้องเด็กจากความเสี่ยงในความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดจากผู้ปกครอง ซึ่งก็ต้องพิจารณาองค์ประกอบในการหาทางออกที่เป็นประโยชน์สูงสุดของเด็ก
สิทธิที่จะถูกรับฟัง (The right of the child to be heard)
มาตราที่ 12 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กระบุในวรรคแรก ว่า รัฐต้องประกันสิทธิแก่เด็กที่สามารถมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองได้แล้ว เด็กมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นอย่างเสรีในทุกๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก ทั้งนี้ความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะต้องได้รับการพิจารณาตามสมควรแก่อายุ และวุฒิภาวะของเด็กนั้น และระบุในวรรคที่ 2 ว่า เด็กจะต้องได้รับสิทธิที่จะถูกรับฟังในกระบวนการทางตุลาการหรือทางปกครองใดๆ ที่มีผลกระทบต่อเด็ก
เด็กมีความสามารถที่จะมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองได้ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก แม้ว่าเด็กอาจจะไม่สามารถแสดงออกด้วยวาจาได้ก็ตาม ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงมีหน้าที่ที่จะต้องรับฟัง เข้าใจและตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก จากอวัจนภาษา ทั้งการเล่น ภาษากาย สีหน้า การวาดภาพ เป็นต้น
เด็กทุกกลุ่มจะต้องถูกรับฟัง ดังนั้น รัฐจะต้องประกันสิทธินี้ให้แก่เด็กพิการ ชนกลุ่มน้อย ชนเผ่าพื้นเมือง ผู้อพยพที่เป็นเด็ก และเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาที่ใช้โดยคนส่วนใหญ่ เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างเต็มที่ด้วย
การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของเด็กในทุกๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก หมายถึง การที่เด็กสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองโดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลหรือแรงกดดัน ดังนั้น รัฐภาคีควรส่งเสริมให้เด็กมีความเห็นเสรีและควรจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่เด็กรู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงความเห็นได้อย่างเสรี และสร้างกรอบกฎหมายและกลไกที่จำเป็นในการให้เด็กมีส่วนร่วมในทุกการกระทำ และในการตัดสินใจ ที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก เพื่อให้เสียงของเด็กจะถูกรับฟังอย่างตั้งใจ
นอกจากนี้ เพื่อให้เด็กจะสามารถใช้สิทธิที่จะถูกรับฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพ เด็กจะต้องสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก (มาตรา 13, CRC) และการเข้าถึงข้อมูล (มาตรา 17, CRC) ด้วย โดยเด็กมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และเสรีภาพในการแสวงหาและได้รับข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น รัฐจะต้องไม่เข้าไปแทรกแซงหรือจำกัดการแสดงออกของเด็ก และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเด็กจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลในรูปแบบที่เหมาะสมกับอายุและความสามารถในทุกประเด็นที่สำคัญต่อเด็ก เช่น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก การดำเนินการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อพวกเขา กฎหมาย ข้อบังคับ และนโยบาย บริการในท้องถิ่น และการฟ้องร้องและการร้องเรียน
สิทธิที่จะได้รับข้อมูล (Right to be inform)
การที่เด็กจะสามารถใช้สิทธิที่จะแสดงออกอย่างเสรีในทุกๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็กได้อย่างเต็มที่ เด็กจะต้องได้รับข้อมูลว่า การแสดงความเห็นของเด็กจะส่งผลอย่างไร เด็กจะต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกและต้องรู้ว่าผลที่อาจจะตามมาของการเลือกทางเลือกนั้นคืออะไร เด็กจะถูกรับฟังโดยใคร ที่ไหนและเมื่อไหร่ เพื่อทำให้เด็กสามารถตัดสินใจได้ และจะต้องแจ้งให้เด็กรู้ผลลัพธ์ของกระบวนการ และอธิบายให้ทราบว่าความคิดเห็นของเด็กจะถูกนำไปพิจารณาในกระบวนการการตัดสินใจอย่างไร ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าความคิดเห็นของเด็กถูกรับฟังอย่างตั้งใจและถูกนำไปใช้ในการตัดสินใจอย่างจริงจัง (The right of all children to be heard and taken seriously)
สิทธิเด็กในการชุมนุมโดยสงบ (Children’s rights of peaceful assembly)
สิทธิในการชุมนุมโดยสงบของเด็กนั้นถูกรับรองในมาตรามรา 15 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติยังได้ให้ความเห็นต่อร่างความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 เรื่องสิทธิการชุมนุมโดยสงบของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ให้เพิ่มข้อความเพื่อเน้นความสำคัญของสิทธิเด็กในการชุมนุมโดยสงบ
เด็กอาจเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ โดยอาจเข้าร่วมกับผู้ปกครองที่เข้าร่วมการชุมนุม หรือเข้าร่วมการชุมนุมด้วยตัวเอง ทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครอง รวมทั้งการมีส่วนร่วมบนโลกออนไลน์ โดยคณะกรรมการฯ มีความเห็นดังนี้
หากพิจารณาถึงหลักผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก และ เด็กจะต้องได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ (มาตรา 19, CRC) การที่การชุมนุมโดยสงบอาจเกิดความรุนแรงขึ้นนั้นทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะต้องมีข้อจำกัดในการใช้สิทธิการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ได้มีความเห็นว่า รัฐไม่ควรกำหนดข้อจำกัดเพิ่มเติมในเรื่องของสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของเด็ก
นิยาม
เด็ก
เด็ก คือ มนุษย์ทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้น ตามกฎหมายที่บังคับแก่เด็กนั้น เช่น ในกรณีของประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ว่าด้วยบุคคล มาตรา 19 กำหนดว่า บุคคลจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ แต่หากบุคคลนั้นได้ทำการสมรสก่อนอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ ตามมาตรา 20 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บุคคลนั้นเป็นผู้บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย
ความรุนแรง (Violence)
หมายถึง ความรุนแรงทุกรูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ได้แก่ ความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ (physical or mental violence) การทำร้ายหรือการล่วงละเมิด (injury or abuse) การทอดทิ้งหรือการปฏิบัติโดยประมาท (neglect or negligent treatment) การปฏิบัติอันมิชอบ (maltreatment) การแสวงหาผลประโยชน์ (exploitation) รวมทั้งการกระทำทารุณทางเพศ (sexual abuse) ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 วรรค 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
เด็กผู้ปกป้องสิทธิ (Child human rights defenders)
เด็กคือผู้ทรงสิทธิ ผู้เรียกร้อง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน คือ เด็กทุกคนที่ออกมารณรงค์และปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมไปถึงสิทธิของเด็กเอง
เด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เพียงมีสิทธิเท่าเทียมกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้ใหญ่ หากแต่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขยายขอบเขตของสิทธิให้กว้างไปกว่านั้นโดยคำนึงถึงบริบททางสังคมที่แตกต่างกันของเด็ก การที่เด็กต้องเผชิญกับความท้าทายและการละเมิดที่มีลักษณะเฉพาะและมากกว่าผู้ใหญ่เมื่อทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเนื่องจากสถานะของเด็กในสังคมนั่นเอง ทั้งการขาดอำนาจทางการเมือง การขาดสิทธิในการออกเสียงและการพึ่งพาพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กบางคนอาจเผชิญกับอุปสรรคที่มากขึ้นตามเพศสภาวะ ความสามารถ เชื้อชาติวัฒนธรรมหรือถิ่นที่อยู่อาศัย
เด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนมักต้องเผชิญความเสี่ยงและอันตรายที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นจากการเลือกปฏิบัติและการกดขี่ และมักเผชิญอุปสรรค ได้แก่ การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งรวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ของพวกเขา การไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากผู้ใหญ่ การถูกละเมิดทั้งทางกายและวาจา และการถูกคุกคามทั้งช่องทางออนไลน์และนอกช่องทางออนไลน์ อีกทั้งยังถูกขัดขวางจากครอบครัวของพวกเขา กลุ่มผู้อาวุโสกว่า สถานศึกษา หรือตำรวจ ตลอดจนการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแหล่งสนับสนุน หรือแหล่งการชดเชยเยียวยา
แอมเนสตี้ทำอะไรบ้าง?
Child in Mob
Child in Mob คือ กลุ่มอาสาสมัครในพื้นที่การชุมนุม หนึ่งในภารกิจหลักของโครงการ Child in Protest จากการรวมตัวขององค์กรเช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย Save the children สายเด็ก (Child Line) กลุ่มหิ่งห้อยน้อย บ้านฟื้น นักจิตบำบัดอิสระ อาสาสมัคร และคนทำงานที่สนใจด้านสิทธิเด็ก โปรเจคนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ดูแลปกป้อง และสนับสนุนสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ
แอมเนสตี้ยืนหยัดว่าเด็กทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ รัฐมีหน้าที่เชิงบวกในการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ เด็กที่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนยังถือว่าเป็นเด็กนักปกป้องสิทธิ ซึ่งต้องการความคุ้มครองจากรัฐ
https://www.amnesty.or.th/special-page/child-mob?fbclid=IwAR2Ikny1LdmtowE6lvthl7-SdehaMGcHxFBMeFc3Do3d_160K8zs3ByfMk0
FB: https://www.facebook.com/childinmob
การเก็บข้อมูลการเข้าร่วมการชุมนุมของเด็ก
https://www.amnesty.or.th/latest/news/920/fbclid=IwAR3M6CmHdTna1Buja5ED_FJjzrNW47iNJZWn3pouH7C9aBljYfVKiTiflAE
https://www.amnesty.or.th/latest/blog/861/?fbclid=IwAR1WOFSUM9MWXgfYDNAhbJMrROjz6RUNvIrJzP-KMfn1ThhV0QyVXg1-VPM
อ้างอิง
สิทธิเด็ก https://www.amnesty.or.th/our-work/childrights/
Committee’s general comment No. 5 (2003) on general measures of implementation for the Convention on the Rights of the Child (CRC/GC/2003/5)
Committee’s general comment No. 12 (2009) on the right of the child to be heard (CRC/C/GC/12)
Committee’s general comment No. 13 (2011) on the right of the child to freedom from all forms of violence (CRC/C/GC/13)
Committee’s general comment No. 14 (2013) on the right of the child to have his or her best interests taken as a primary consideration (art. 3, para. 1) (CRC/C/GC/14)
Committee’s comment (2020) on human rights committee’s revised draft general comment no.37 on article 21 (right of peaceful assembly) of the International Covenant on civil and political rights