ภาพโดย กันต์ แสงทอง
“เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของบางวัฒนธรรมหรือบางสถานที่หรือบางเวลา หากแต่เป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ และเป็นความจำเป็นของมนุษย์ที่บุคคลสามารถรวมตัวกันเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนได้”
– ไมนา คิไอ อดีตผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ
“การชุมนุม” หมายถึง “การรวมตัวโดยเจตนาเป็นการชั่วคราว ในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป้าประสงค์บางประการ อาทิเช่นเพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาที่สำคัญต่อพวกเขา รวมทั้งเพื่อการแสดงความเห็นที่หลากหลายและการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน โดยอาจเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิทางสังคม–เศรษฐกิจ หรือประเด็นอื่น ๆ จึงอาจหมายรวมถึงการเฉลิมฉลอง การร่วมรำลึก การนัดหยุดงาน และการประท้วง เป็นต้น การชุมนุมไม่ว่าจะเป็นการประท้วงทางการเมือง การเดินขบวนด้านวัฒนธรรม การรวมตัวทางอินเตอร์เน็ต หรือรูปแบบการชุมนุมอื่นใดเพื่อเป้าประสงค์ร่วมกัน ต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมพหุนิยมที่เติบใหญ่ขึ้น ซึ่งเอื้อให้กลุ่มที่มีความเชื่อ การปฏิบัติ หรือนโยบายที่หลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎบัตรระหว่างประเทศ ภูมิภาค ในประเทศ และแม้กระทั่งกฎหมายในท้องถิ่น
สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อีกทั้งเป็นสิทธิที่พึงได้รับและสามารถใช้ได้โดยบุคคลและกลุ่ม การคุ้มครองเสรีภาพที่จะชุมนุมโดยสงบ เช่น การอำนวยความสะดวกให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ประกันให้บุคคลในสังคมมีโอกาสแสดงความเห็นที่สอดคล้องกับบุคคลอื่น ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในเชิงกระบวนการ ซึ่งนำไปสู่การสานเสวนาในภาคประชาสังคม และระหว่างภาคประชาสังคมกับผู้นำทางการเมืองและรัฐบาล
นอกจากนั้น เสรีภาพในการชุมนุมยังเป็นสิทธิที่ได้รับการหนุนเสริมจากสิทธิและเสรีภาพอื่น ๆ เช่น เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิด้านความคิด มโนธรรมสำนึก และศาสนา ด้วยเหตุดังกล่าว เสรีภาพในการชุมนุมจึงมีความสำคัญขั้นพื้นฐานต่อพัฒนาการของปัจเจกบุคคล ศักดิ์ศรี และการบรรลุเป้าหมายในชีวิตของปัจเจกบุคคลทุกคน เพื่อความก้าวหน้า และสวัสดิการทางสังคม อีกทั้งเอื้อให้กลุ่มที่มีความเชื่อ การปฏิบัติ หรือนโยบายที่หลากหลาย อยู่ร่วมกันได้โดยสันติ โดยหน่วยงานของรัฐไม่ได้มีบทบาทในการขจัดสาเหตุของความตึงเครียดโดยการลดทอนความเป็นพหุนิยม หากต้องประกันว่ากลุ่มต่างๆ ต้องเปิดกว้างต่อความคิดและความเห็นซึ่งกันและกัน และอำนวยให้เกิดการคุ้มครองการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานด้วยวิธีประการต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดกรอบกฎหมายที่เกื้อหนุน
ปัจจุบันแม้ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) แต่มาตรฐานเสรีภาพการชุมนุมในประเทศยังคงถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ และมีเพียงน้อยคนเท่านั้นที่ทราบว่าแท้จริงแล้วสิทธิในเสรีภาพการออกมาชุมนุมอย่างสงบของประชาชนนั้น มีความชอบธรรมอย่างล้นเหลือ และบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการจำกัดควบคุมเสรีภาพในการชุมนุมอย่างเกินกว่าเหตุ
ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,808 คน ในจำนวน 1,065 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 280 ราย โดยแยกเป็นสถิติที่เห็นได้ชัดเจนดังนี้
(ข้อมูลจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน: https://tlhr2014.com/archives/43253)
ภาพโดย กันต์ แสงทอง
อีกทั้งที่ผ่านมาได้มีการสลายการชุมนุมที่รุนแรงโดยการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ โดยมีลักษณะมุ่งเป้าเพื่อปะทะและจับกุมผู้ชุมนุม ถือเป็นการปราบปรามอย่างเป็นระบบต่อกลุ่มหรือบุคคลที่เห็นต่างซึ่งออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ทั้งนี้การใช้กฎหมายอย่างมิชอบเช่นนี้ยังตอกย้ำข้อกังวลต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และกฎหมายที่คล้ายคลึงกันว่าเป็นเพียงข้ออ้างแบบเหมารวมและไม่ชอบด้วยกฎหมายตามหลักสิทธิมนุษยชน
การกำกับดูแลเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
พื้นฐานสำคัญของมาตรฐานด้านกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม ได้แก่ กฎบัตรสิทธิมนุษยชนทั้งที่มีลักษณะทั่วไปและมีลักษณะเฉพาะ โดยกฎบัตรทั่วไปอาจรวมถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ UDHR (1948) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR (1966)
“สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”