ฮานน์ โซฟี เกรฟ กรรมาธิการคณะกรรมการสากลต่อต้านโทษประหารชีวิตและอดีตผู้พิพากษาศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป
เป็นที่ทราบกันดีว่าการประหารชีวิตคือบทลงโทษสูงสุดแก่ผู้กระทำความผิดร้ายแรง วิธีการประหารชีวิตที่นานาชาติใช้อยู่ คือ การแขวนคอ การยิงเป้า การนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า การตัดศีรษะ การใช้หินขว้างให้ตาย การฉีดยา เป็นต้น สำหรับประเทศไทย เดิมใช้วิธีประหารชีวิตโดยการตัดศีรษะ ต่อมารัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายลักษณะอาญาว่าด้วยการประหารชีวิตโดยวิธีการตัดศีรษะมาเป็นยิงเป้า ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 13 ซึ่งระบุว่า “ผู้ใดต้องคำพิพากษาให้ลงอาญาประหารชีวิต ท่านให้เอาไปยิงเสียให้ตาย” และได้เปลี่ยนเป็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 19 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้เอาไปยิงเสียให้ตาย” จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2546 ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรา 19 ใหม่เป็น “ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย”
ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นประเทศที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ เนื่องจากนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ประเทศไทยไม่มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิต ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน ทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ถือเป็นพัฒนาการที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศไทยอีกก้าวหนึ่ง กระทั่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ประเทศไทยได้มีการลงโทษประหารชีวิตครั้งแรกในรอบ 9 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยยังคงสถานะ เป็นประเทศที่ยังมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเกิดคดีอาชญากรรมร้ายแรงอุกอาจ สะเทือนขวัญขึ้นในสังคม ปฏิกิริยาตอบรับของผู้คนในสังคมที่พบเห็นโดยทั่วไปจากสื่อมวลชน คนมีชื่อเสียง ประชาชน หรือแม้กระทั่งผู้นำทางการเมืองมักเรียกร้องให้มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตอย่างจริงจังต่อผู้กระทำความผิด โดยเชื่อว่าบทลงโทษที่รุนแรง อย่างโทษประหารชีวิตจะช่วยยับยั้งและป้องปรามอาชญากรรมได้ และเหตุการณ์เหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะฆาตกรได้ตายไปแล้ว ทั้งนี้ ความเชื่อดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือมารองรับ อาชญากรรมและความรุนแรงอาจยังคงมีอยู่ เพียงแค่เปลี่ยนตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้นเอง
การลงโทษประหารชีวิต ถือเป็นการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดสำหรับบุคคล นั่นคือ การละเมิด “สิทธิในการมีชีวิต” ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โทษประหารชีวิตเป็นการสังหารบุคคล โดยรัฐเป็นผู้ลงมือและมีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า และที่น่าหวาดหวั่นที่สุด คือ การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรูปแบบนี้ ถูกกระทำในนามของ “ความยุติธรรม”
งานวิจัยจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรม งานศึกษาอย่างรอบด้านขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโทษประหารชีวิตกับอัตราการฆาตกรรมได้ข้อสรุปว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ไม่สามารถค้นพบข้อยืนยันในทางวิทยาศาสตร์ว่า การประหารชีวิตส่งผลในเชิงป้องปรามได้ดียิ่งกว่าการลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และไม่น่าเชื่อว่าจะมีข้อยืนยันเหล่านั้นอยู่จริง หลักฐานที่มีอยู่ไม่มีข้อสนับสนุนในเชิงบวกต่อสมมติฐานในแง่การป้องปรามเลย”
ในความป็นจริงยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการใช้โทษประหารชีวิตสามารถป้องกันการกระทำผิดซํ้าได้ เพราะในทางปฏิบัติแล้วเราใช้โทษประหารชีวิตกับนักโทษที่อยู่ระหว่างการคุมขัง ซึ่งนักโทษเหล่านั้นอยู่ในเรือนจำและถูกแยกตัวออกมาจากสังคมอยู่แล้ว ยากนักที่นักโทษคนดังกล่าวจะก่อความรุนแรงในสังคมได้อีก การใช้โทษประหารชีวิตเพื่อเป็นมาตรการเชิงป้องกันจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น นอกจากนั้น โทษประหารชีวิตอาจนำไปสู่ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่อาจเยียวยาแก้ไขได้อีก มีความเสี่ยงที่ผู้ต้องขังบางคนซึ่งแท้จริงแล้วเป็นผู้บริสุทธิ์อาจถูกประหารชีวิต อีกทั้งหากพิจารณาตามตรรกะแล้ว เราไม่มีทางประเมินได้จริงว่าผู้ที่ต้องโทษประหารชีวิตจะกระทำผิดซํ้าจริงๆ อีกหรือไม่ เพราะการประหารชีวิตเป็นการพรากชีวิตนักโทษ ซึ่งในทางทฤษฎีย่อมทำให้เขาไม่มีโอกาสกระทำการใดๆ ได้อีก ทั้งยังเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำความผิดอีกด้วย
เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การสูญเสียแก่ชีวิต สิ่งที่รัฐจะต้องกระทำอย่างเร่งด่วนคือการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมจะต้องโปร่งใส รวดเร็ว แม่นยำและเท่าเทียมกัน จะต้องไม่มีการปล่อยคนผิดลอยนวล ยิ่งกระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมและรวดเร็วเท่าไร ยิ่งเป็นการเยียวยาเหยื่อหรือผู้เสียหายได้มากเท่านั้น ทั้งนี้ รัฐจะต้องทำงานอย่างจริงจังในการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินและการเยียวยาสภาพจิตใจในระยะยาว หากผู้เสียหายมีการร้องขอ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายครอบครัวที่ประสบกับความสูญเสียยังไม่สามารถทำใจได้ แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม
ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ตามรายงานเรื่องสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2563 ที่จัดทำขึ้นโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า มากกว่าสองในสามของประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว ทั้งนี้ อีก 55 ประเทศและรวมถึงประเทศไทยยังคงบทลงโทษประหารชีวิตอยู่ สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (การที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับใช้การประหารชีวิตเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนามและประเทศไทยยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่
ในหลายประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิตมักให้ความสำคัญกับการป้องกันอาชญากรรม ขณะเดียวกันคนที่กระทำความผิดก็ต้องได้รับการฟื้นฟูจิตใจด้วย เผื่อว่าสุดท้ายผู้กระทำผิดดังกล่าวจะได้กลับสู่สังคม และไม่กลับไปเป็นอาชญากรอีก แน่นอนว่าไม่มีกระบวนการที่แก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้อย่างสมบูรณ์แบบ
เอกสารจากกรมราชทัณฑ์ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม ที่ได้มอบให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ได้ระบุถึงบทสรุปฐานความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ว่ามีจำนวน 62 ฐานความผิด ทั้งฐานความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา (33 ฐานความผิด) ฐานความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายทหาร (17 ฐานความผิด) และฐานความผิดที่มีบทลงโทษตามกฎหมายอื่น (12 ฐานความผิด) อาทิ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เริ่มรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตตั้งแต่ปี 2520 โดยมีพื้นฐานมาจากแนวคิดเรื่องสันติภาพ ประชาธิปไตย และหลักแห่งกฎหมาย ซึ่งพัฒนามาเป็นกฎหมายสากลที่ได้รับการยอมรับในประชาคมโลก แม้ว่าการใช้โทษประหารชีวิตถือเป็นข้อห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ในขณะนั้นมีเพียง 16 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ปัจจุบันมี 144 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก ได้ยกเลิกมาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาดอย่างโทษประหารชีวิต
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พยายามสื่อสารกับสาธารณะในประเด็นโทษประหารชีวิต เพราะต้องการให้เกิดการสร้างระบบป้องกันที่มีมาตรฐาน เพื่อลดความรุนแรงและอาชญากรรมอย่างยั่งยื่น ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีก ด้วยเหตุนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงคัดค้านโทษประหารชีวิติทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่ารัฐจะใช้วิธีการประหารชีวิตแบบใด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงมีข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยในประเด็นการยุติการใช้โทษประหารชีวิตดังนี้
ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ซึ่งได้รับการรับรองและประกาศโดยข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 โดยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมและมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้นในสิทธิและอิสรภาพที่กว้างขวางยิ่งขึ้นและเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยข้อที่ 3 ของปฏิญญาฯ ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพและความมั่นคงแห่งบุคคล”
อีกทั้งในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ภาคที่ 3 ข้อที่ 6 ระบุว่า
“มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตมาแต่กำเนิด สิทธินี้ต้องได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย บุคคลจะต้องไม่ถูกทำให้เสียชีวิตโดยอำเภอใจ”
“ในประเทศที่ยังไม่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต การลงโทษประหารชีวิตอาจะกระทำได้เฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่สุด ตามกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด และไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกติกานี้ และต่ออนุสัญญาว่าด้วยการป้งอกันและการลงโทษอาชญากรรมล้างเผ่าพันธ์ การลงโทษเช่นว่านี้จะกระทำได้ก็แต่โดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลที่มีอำนาจ”
“ในกรณีที่การทำให้เสียชีวิตมีลักษณะเป็นอาชญากรรมล้างเผ่าพันธ์ ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าข้อนี้ไม่ได้ให้อำนาจรัฐภาคีใดแห่งกติกานี้ในอันที่จะเลี่ยงจากพันธกรณีใดที่มีตามบัญญัติแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและการลงโทษอาชญากรรมล้างเผ่าพันธ์”
“บุคคลใดต้องคำพิพากษาประหารชีวิต ย่อมมีสิทธิขออภัยโทษหรือลดหย่อนผ่อนโทษตามคำพิพากษา การนิรโทษกรรม การอภัยโทษ หรือการลดหย่อนผ่อนโทษตามคำพิพากษาประหารชีวิตอาจให้ได้ในทุกกรณี”
“บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่กระทำความผิดจะถูกพิพากษาประหารชีวิตไม่ได้ และจะดำเนินการประหารชีวิตสตรีขณะมีครรภ์ไม่ได้” และ
“รัฐภาคีใดแห่งกติกานี้จะยกข้อนี้ขึ้นอ้างเพื่อประวิงหรือขัดขวางการยกเลิกโทษประหารชีวิตไม่ได้”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าสิทธิมนุษยชนเป็นคุณค่าสากล ไม่อาจแบ่งแยกได้และเชื่อมโยงกัน แม้ว่าสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นและพัฒนาในบริบทของชาติตะวันตก แต่ก็ไม่ใช่คุณค่าของชาติตะวันตกเท่านั้นหากยังพัฒนาขึ้นจากหลายจารีตที่แตกต่างกัน และรัฐภาคีทุกรัฐขององค์การสหประชาชาติต่างยอมรับ และใช้เป็นบรรทัดฐาน พร้อมที่จะปฏิบัติตาม
การที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ไม่ได้หมายถึงการห้ามไม่ให้ลงโทษผู้กระทำความผิด เรายืนยันเสมอว่าคนทำผิดจะต้องได้รับโทษและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
เราไม่สามารถหยุดฆาตกรได้ด้วยการฆ่า ไม่ว่าจะทำในนามของความยุติธรรมก็ตาม เมื่อเราทำเช่นนั้น รัฐหรือเราเองก็มีพฤติกรรมที่ไม่ต่างจากฆาตกรแต่อย่างใด นอกจากนั้น ระบบยุติธรรมทางอาญาต่างก็มีความเสี่ยง ที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติและมีข้อผิดพลาดได้ทั้งนั้น ไม่มีระบบใดในโลกสามารถตัดสินว่าใครจะอยู่หรือใครจะตายอย่างเป็นธรรมได้โดยไม่มีข้อบกพร่อง การเร่งรัดกระบวนการการตัดสินใจโดยใช้อัตวินิจฉัยและความเห็นของสาธารณะอาจมีอิทธิพลต่อขั้นตอนปฏิบัติงานตั้งแต่การจับกุมในเบื้องต้นไปจนถึงวินาทีสุดท้ายของการขอ อภัยโทษ
“เราไม่ได้อ่อนข้อหรือยกโทษให้กับผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (ที่เป็นธรรม) แต่เราเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบ/วิธีการ การลงโทษผู้กระทำความผิด”