สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก
การเข้าถึงและได้รับข้อมูลข่าวสาร การแสดงความเห็น และการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ทำให้เราสามารถสื่อสารความต้องการกับคนในสังคมได้ ทำให้เราสามารถแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะ ทำให้เราสามารถแสดงตัวตนและอัตลักษณ์ของบุคคลหรือกลุ่ม ทั้งความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์อื่นๆ ทำให้เราสามารถพัฒนาตนเองและพัฒนาสังคมผ่านการได้รับข่าวสาร คิดและแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็นกับคนในสังคม และมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการเลือกและสื่อสารกับผู้แทนทางการเมือง เราจะไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เลย หากเราไม่มีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก
ทำไมเสรีภาพในการแสดงออกจึงสำคัญ?
เสรีภาพในการมีความเห็น (Freedom of Opinion) และเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) เป็นทั้งสิทธิพลเมืองที่คุ้มครองบุคคลจากการถูกรัฐแทรกแซง และเป็นสิทธิทางการเมืองที่ทำให้บุคคลสามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง เสรีภาพทั้งสองจึงมีความเกี่ยวพันกัน โดยเสรีภาพในการแสดงออกทำหน้าที่เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนและพัฒนาความเห็น
เสรีภาพในการมีความเห็น และเสรีภาพในการแสดงออก เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เป็นตัวขับเคลื่อนสิทธิอื่นๆ ทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เช่น การที่ผู้ชุมนุมสามารถแสดงออกทั้งการใช้วาจา การปราศรัย การเขียนข้อความบนป้ายประท้วง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อสื่อสารกับคนในสังคมและสถาบันทางการเมืองต่างๆ ได้อย่างเสรีโดยไม่ถูกปิดกั้น แทรกแซงหรือถูกลงโทษ ทำให้การใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมเกิดขึ้นได้จริง เป็นต้น
เสรีภาพทั้งสองเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาบุคคลอย่างสมบูรณ์ และมีความจำเป็นยิ่งยวดสำหรับสังคมโดยถือเป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย การที่บุคคลจะพัฒนาตัวเองและสังคมได้ ทุกคนจะต้องสามารถมีความเห็น เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คิด พูด เขียนและแลกเปลี่ยนกับคนในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเสรี
กฎหมายระหว่างประเทศและหลักการพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการมีความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและอิสรภาพที่จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสารและความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ โดยไม่คำนึงถึงเขตแดน
ข้อ 19 (1) บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง;
(2) บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ขอ้มูล ข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ไม่ว่าจะด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปแบบของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก;
(3) การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิ ดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ
(ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น;
(ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน
มาตราอื่นๆ ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่การรับประกันเสรีภาพในการมีความเห็นและ/หรือเสรีภาพในการแสดงความเห็น
เสรีภาพในการมีความเห็น (Freedom of opinion)
เสรีภาพในการมีความเห็นถือเป็นเรื่องส่วนตัว และเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ที่ไม่สามารถถูกจำกัดได้ด้วยกฎหมายหรืออำนาจใดๆ ซึ่งมาตรา 19 (1) ของ ICCPR ได้รับรองการคุ้มครองสิทธิที่จะมีความเห็น (the right to hold opinions) โดยไร้การแทรกแซง และไม่มีข้อยกเว้นหรือข้อจำกัด ความเห็นทุกรูปแบบต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเสรีภาพในการมีความเห็นนี้รวมถึงสิทธิที่จะเปลี่ยนความเห็นเมื่อใดก็ได้และด้วยเหตุผลใดก็ได้ตามที่บุคคลจะเลือกอย่างเสรี การทำร้าย ข่มขู่ หรือสร้างตราบาปแก่บุคคล รวมถึงการจับกุม การกักกัน การไต่สวน หรือการจำคุกใครก็ตามเนื่องจากความเห็นที่บุคคลนั้นมีถือเป็นการละเมิดสิทธิในการมีความเห็น นอกจากนี้ เสรีภาพในการแสดงความเห็นของปัจเจกบุคคล ย่อมรวมถึงเสรีภาพในการไม่แสดงความเห็นของบุคคลนั้นเช่นกัน
เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression)
มาตรา 19 (2) กำหนดให้รัฐภาคีรับประกันสิทธิในการมีเสรีภาพที่จะแสดงความเห็น ซึ่งรวมถึงสิทธิในการหา รับ แบ่งปันข้อมูลและความเห็นทุกรูปแบบไม่ว่าจะอยู่ในเขตแดนใดก็ตาม สิทธินี้รวมถึงการสื่อและรับความคิดเห็นทุกรูปแบบที่สามารถสื่อให้ผู้อื่นทราบ โดยให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 19 วรรค 3 และมาตรา 20 ซึ่งรวมถึงการกล่าวสุนทรพจน์ทางการเมือง การแสดงความเห็นเกี่ยวกับตัวเองและเรื่องสาธารณะ การหาเสียง การอภิปรายเรื่องสิทธิมนุษยชน สื่อสารมวลชน การแสดงออกเชิงศิลปะและวัฒนธรรมและการสอน การปาฐกทางศาสนา และอาจรวมถึงการโฆษณาเชิงพาณิชย์
วรรค 2 คุ้มครองการแสดงออกและวิธีการถ่ายทอดการแสดงออกนั้นในทุกรูปแบบ ซึ่งได้แก่ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษามือ และการแสดงออกที่ไม่ใช้คำพูด เช่น ภาพและศิลปะ รูปแบบการแสดงออกนี้หมายรวมถึงหนังสือ หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ โปสเตอร์ แผ่นผ้า ชุดที่สวมใส่และเอกสารทางกฎหมายที่มีการนำส่ง (legal submissions) และรวมถึงรูปแบบการแสดงออกทางภาพและเสียง อิเล็คโทรนิคส์และอินเตอร์เน็ตทุกรูปแบบ
สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล (Right of access to information)
มาตรา 19(2) ยอมรับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในมือของหน่วยงานรัฐ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล จะรวมถึงสิทธิที่สื่อสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับกิจการรัฐ (public affairs) และสิทธิของประชาชนทั่วไปที่จะได้รับข่าวสาร
เสรีภาพในการแสดงความเห็นและสิทธิทางการเมือง (Freedom of expression and political rights)
เสรีภาพในการแสดงความเห็นต่อการดำเนินกิจการรัฐและเพื่อการใช้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและประเด็นสาธารณะอย่างเสรีระหว่างประชาชน ผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้แทนที่ได้รับเลือก สิทธิในเสรีภาพเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหมายถึงสื่อสิ่งพิมพ์อิสระและสื่ออื่น ๆ สามารถแสดงความเห็นที่เกี่ยวกับประเด็นสาธารณะและสื่อให้ประชาชนได้รับทราบความเห็นสาธารณะโดยไม่ถูกเซ็นเซอร์หรือถูกห้าม
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสื่อ (Freedom of expression and the media)
เพื่อให้เกิดเสรีภาพในการมีความเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก สื่อสิ่งพิมพ์ที่เสรีและสื่ออื่น ๆจะต้องมีอิสระในการได้รับข้อมูล สามารถสื่อสารข้อมูล ความเห็นและสามารถวิพากษ์ประเด็นสาธารณะได้โดยไม่ถูกเซ็นเซอร์หรือถูกห้าม นอกจากนี้ สาธารณชนเองก็มีสิทธิในการรับสื่อด้วย
รัฐจะต้องคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้สื่อทุกกลุ่ม โดยการสนับสนุนให้เกิดสื่ออิสระและหลากหลาย เช่น สื่อของสมาชิกของชนกลุ่มน้อยเชิงชาติพันธุ์และความหลากหลายในแง่ของภาษาพูด เป็นต้น
เสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ (Freedom of Online Expression)
ผู้คนสามารถใช้อินเตอร์เน็ทในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้แบบเรียลไทม์ เชื่อมต่อกันได้ทั่วทุกมุมโลก และไม่มีการระบุตัวตน ทำให้สามารถเกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมของผู้คนได้อย่างรวดเร็วและทรงพลัง อินเตอร์เน็ทจึงเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนสามารถใช้เสรีในการภาพการแสดงออกในรูปแบบหนึ่งบนพื้นที่ออนไลน์ ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงออกในพื้นที่ออนไลน์จึงได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเช่นเดียวกับการแสดงออกในพื้นที่อื่นๆ
คุณลักษณะเฉพาะของการแสดงออกบนพื้นที่ออนไลน์ทำให้ผู้คนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างรวดเร็วทำให้ผู้คนสามารถเห็นและเข้าถึงความรู้ ข่าวสาร ความจริงและความเจริญก้าวหน้าของสังคมโดยรวมทั่วโลก จึงสร้างความหวาดกลัวให้กับรัฐบาลหลายประเทศ นำไปสู่การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกบนโลกออนไลน์มากมายโดยรัฐ ทั้งการระงับการเข้าถึงเนื้อหา การสอดส่องประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การระบุตัวตนของนักเคลื่อนไหว การทำให้การแสดงออกที่ชอบด้วยกฎหมายกลายเป็นอาชญากรรม และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ความชอบธรรมกับรัฐในการระงับเสรีภาพการแสดงออก
เราสามารถวิจารณ์รัฐบาล หรือประมุขขอรัฐได้หรือไม่?
ในกรณีที่มีการอภิปรายบุคคลสาธารณะที่ทำงานการเมืองและที่อยู่ในสถาบันรัฐ เป็นการแสดงออกที่ได้รับการคุ้มครองไว้ค่อนข้างสูงที่จะไม่ถูกปิดกั้น ดังนั้น การแสดงออกในรูปแบบที่ดูหมิ่นบุคคลสาธารณะ จึงไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นเหตุในการลงโทษผู้แสดงความคิดเห็นนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลสาธารณะทุกคนรวมทั้งผู้ที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง เช่น ประมุขแห่งรัฐ และรัฐบาล ย่อมสามารถถูกวิพากษ์และคัดค้านทางการเมืองได้ เช่นเดียวกัน การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองของบุคคลสาธารณะต่อบุคคลสาธารณะก็จะได้รับประโยชน์จากความคุ้มครองนี้
เมื่อไหร่ที่รัฐจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกได้?
แม้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจะเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตย แต่สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกก็เป็นสิทธิที่สามารถถูกระงับได้ในบางกรณี โดยมาตรา 19 (3) ของ ICCPR ระบุว่าการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกนั้นจะต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ด้วยเพื่อปกป้องสิทธิของผู้อื่น ดังนั้น การใช้สิทธิดังกล่าวจึงอาจมีข้อจำกัด ซึ่งข้อจำกัดนั้นจะต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายไว้อย่างชัดเจน การจำกัดสิทธิจะต้องเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และมีเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิดังต่อไปนี้
(1) เพื่อการเคารพในสิทธิหรือปกป้องชื่อเสียงของบุคคลอื่น ซึ่งอาจจำกัดสิทธิได้โดยชอบเพื่อปกป้องเสรีภาพในศาสนา ป้องกันการเลือกปฏิบัติ และการคุ้มครองชนกลุ่มน้อย นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตามมาตรา 17 ICCPR ซึ่งกล่าวถึงสิทธิในความเป็นส่วนตัว รัฐจะต้องให้ความคุ้มครองแก่บุคคลจาจากการลบหลู่เกียรติและชื่อเสียงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยจะต้องพิจารณาตามหลักแห่งความได้สัดส่วนอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก
(2) เพื่อการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ โดยจะสามารถใช้เป็นเหตุแห่งการระงับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกได้เฉพาะในกรณีที่การแสดงออกนั้นทำให้เกิดภัยคุกคามทางการเมืองหรือทางทหารอย่างร้ายแรงต่อคนทั้งชาติเท่านั้น รัฐบาลไม่สามารถอ้างความมั่นคงของชาติให้เป็นเหตุแห่งในการแทรกแซงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกได้ หากไม่มีความจำเป็นและไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
(3) เพื่อความสงบเรียบร้อย โดยแนวคิดเรื่องความสงบเรียบร้อยของประชาชนยังมีความคลุมเครือ และมักถูกรัฐนำไปอ้างเป็นเหตุแห่งการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก การจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยสามารถกระทำได้ในระยะเวลาหนึ่ง ในสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าอะไรกระทำได้หรือไม่ได้ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวเท่านั้น และต้องพิจารณาตามหลักความจำเป็นอย่างเคร่งครัด
(4) เพื่อการสาธารณสุข โดยสามารถห้ามการเผยแพร่สื่อที่สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และการปฏิบัติทางสังคมหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ต่อผู้หญิงและเด็ก ได้แก่ การขลิบอวัยวะเพศหญิง (Female Genital Mutilation – FGM)
(5) เพื่อศีลธรรมของประชาชน โดยไม่ควรจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในลักษณะที่ส่งเสริมอคติหรือความไม่อดทนอดกลั้น
อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้มาตรา 19(3) จะต้องเป็นไปตามหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วนอย่างเข้มงวดที่สุดเท่านั้น ว่าการจำกัดสิทธินั้นมีความจำเป็น และจะการจำกัดสิทธินั้นจะกระทบการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกให้น้อยที่สุดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ค์ข้างต้น
นอกจากนี้ สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกที่อาจถูกจำกัดได้ยังรวมไปถึงการหมิ่นประมาท เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและชื่อเสียงของบุคคลอื่น และประเภทการแสดงออกที่รัฐต้องออกข้อห้ามภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ สื่อลามกเด็กเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็ก ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง การยุยงปลุกปั่นโดยตรงและในทางสาธารณะให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และมาตรา 20 ของ ICCPR ยังระบุให้รัฐภาคีออกข้อห้ามตามกฎหมายสำหรับการแสดงออกในการโฆษณาชวนเชื่อใดๆ เพื่อการสงคราม และการรณรงค์สร้างความเกลียดชังเชิงเหยียดหยามในเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์และศาสนาอันเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ความเป็นศัตรู หรือความรุนแรง
รัฐมีหน้าที่อะไร
กฎหมายสิทธิมนุษยชนกำหนดหน้าที่ของรัฐในการปกป้องและรับประกันให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ได้แก่
เคารพ (Respect)
ปกป้อง (Protect)
เติมเต็ม (Fulfill)
SLAPP หรือ กฎหมายปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participation) การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน
Free Speech เสรีภาพในการพูด
Hate Speech ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง
กฎหมายที่ใช้ในการจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทย
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือกฎหมายอาญา มาตรา 112
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”
ทางการไทยอ้างว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือกฎหมายอาญามาตรา 112 มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของรัฐ และมองว่าความพยายามในการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่งคงของชาติ นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ทางการไทยได้จับกุมและดำเนินคดีมาตรา 112 กับผู้เห็นต่างทางการเมืองเป็นจำนวนมากภายใต้กฎอัยการศึกและศาลทหาร นอกจากนี้ ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ยังต้องเผชิญกับการจับกุมและคุุมขังโดยพลการ รวมทั้งไม่ให้ประกันตัว และถูกดำเนินคดีภายใต้ศาลทหาร ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Right to Fair Trial) อย่างรุนแรง โดยตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน (2565) มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 190 ราย ใน 204 คดี ( ) ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
กฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกตั้งข้อสังเกตุว่ามีการบังคับใช้และการตีความที่คลุมเครือ กว้างขวางและไม่ได้มาตรฐาน โดยไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าการแสดงออกแบบใดถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย อีกทั้งยังกำหนดโทษจำคุกเป็นเวลานานอย่างไม่ได้สัดส่วน เช่นกรณีของ อัญชัญ ปรีเลิศ ถูกพิจารณาคดี 112 ภายใต้ศาลทหาร จากการแชร์คลิปเสียงของบรรพตที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 29 คลิป คิดเป็นความผิด 29 กรรม (หากได้รับโทษสูงสุด 29 กรรม x 15 ปี คือจำคุก 435 ปี) และเธอเป็นคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีในขณะที่บรรพตที่เป็นคนทำคลิปไม่ต่ำกว่า 1,000 ตอน ถูกฟ้องเพียง 1 กรรม โดยระหว่างการพิจารณาคดี อัญชัญถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวหลายครั้ง ทำให้ต้องถูกคุมขังนานถึง 3 ปี 281 วัน และต้องรับโทษจำคุกถึง 43 ปี 6 เดือนตามคำพิพากษาของศาลอาญาในท้ายที่สุด
การมีอยู่และบังคับใช้กฎหมายนี้ สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ทำให้บุคคลและสื่อเซ็นเซอร์การแสดงออกของตนเอง และจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งผลเสียต่อเสรีภาพในการแสดงออกนี้ไม่ได้สัดส่วนกับประโยชน์จากการจำกัดสิทธิ ซึ่งก็คือการคุ้มครองพระมหากษัตริย์
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (Computer-Related Crime Act)
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหาออนไลน์ และดำเนินคดีกับบุคคลที่ถูกตีความอย่างกว้างขวางโดยผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้มีทั้งผู้ที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่งคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน รวมไปถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย และผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเป็นผู้กระทำผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
แอมเนสตี้ทำอะไรบ้าง
รายงานสิทธิมนุษยชนตามกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
รายงานเรื่อง “มีคนจับตาดูอยู่จริงๆ: ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย”
“THEY ARE ALWAYS WATCHING”: RESTRICTING FREEDOM OF EXPRESSION ONLINE IN THAILAND
“ผลกระทบ ความหวัง ความฝัน” ชวนคุยกับ ‘เพชร’ ในวันที่กลายเป็นเยาวชนคนที่สองที่ถูกดำเนินคดี ม. 112
เยาวชนคนที่สองที่ถูกดำเนินคดี ม. 112 [Thai Subtitle]
อ้างอิง https://tlhr2014.com/archives/43253