สิทธิสตรี
ที่มาและความสำคัญ
ปัจจุบันทั่วโลกยังมีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจำนวนมากที่ประสบกับการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศกำเนิดและเพศสภาพ ความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นรากฐานของปัญหาจำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างเกินสัดส่วน เช่น ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ ได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ได้รับการศึกษา และบริการสุขภาพที่ไม่เพียงพอ ขบวนการสิทธิสตรีได้ต่อสู้อย่างอุตสาหะมาเป็นเวลายาวนานเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำ โดยรณรงค์เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือลงสู่ท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้สิทธิของตนได้รับการเคารพ นอกจากนี้ ยังมีขบวนการรุ่นใหม่ที่แพร่หลายในยุคดิจิตอล เช่น โครงการรณรงค์ #MeToo ซึ่งชี้ให้เห็นความรุนแรงทางเพศและการคุกคามทางเพศที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำงานกดดันผู้มีอำนาจให้เคารพสิทธิของผู้หญิง ผ่านการวิจัย การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และการรณรงค์ต่าง ๆ
เราต่อสู้เพื่ออะไร
เวลาที่พูดถึงสิทธิสตรี เราหมายถึงอะไร เราต่อสู้เพื่ออะไร ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของสิทธิผู้หญิงซึ่งนักกิจกรรมรณรงค์ได้ต่อสู้กันมาเป็นเวลายาวนานกว่าร้อยปีจนถึงปัจจุบัน
สิทธิของผู้หญิงในการออกเสียงเลือกตั้ง
ในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในการออกเสียงเลือกตั้ง โดยในปี ค.ศ. 1893 นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิผู้หญิงออกเสียงเลือกตั้งระดับประเทศ ขบวนการนี้ได้เติบโตขยายไปทั่วโลก และด้วยความอุตสาหะของทุกคนที่เกี่ยวข้อง สิทธิของผู้หญิงในการออกเสียงเลือกตั้งจึงกลายเป็นสิทธิที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความก้าวหน้าเช่นนี้แล้ว แต่กลับมีหลายที่ในโลกที่ผู้หญิงยังประสบความลำบากในการใช้สิทธินี้ ตัวอย่างเช่น ในซีเรีย ผู้หญิงถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่
ในปากีสถาน แม้ว่าการออกเสียงเลือกตั้งจะเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ผู้หญิงถูกห้ามออกเสียง เพราะผู้มีอิทธิพลในชุมชนใช้ธรรมเนียมประเพณีชายเป็นใหญ่ของท้องถิ่น กีดกันไม่ให้ผู้หญิงเดินทางไปยังจุดลงคะแนนเสียงได้
ส่วนในอัฟกานิสถานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางการได้นำเอาระบบบังคับพิสูจน์ตัวตนด้วยภาพถ่ายมาใช้ตามจุดเลือกตั้ง ทำให้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงเกิดความยากลำบากในพื้นที่อนุรักษ์นิยมที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องปกคลุมใบหน้าในที่สาธารณะ แอมเนสตี้รณรงค์เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองได้อย่างแท้จริง
สิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์
ทุกคนควรตัดสินใจได้ด้วยตนเองเกี่ยวกับร่างกายของตน
ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคนมีสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งหมายถึงสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ เช่น การคุมกำเนิดและการทำแท้งที่ปลอดภัยได้อย่างเสมอภาค ในการเลือกว่าจะแต่งงานหรือไม่ เมื่อไหร่ และกับใคร และในการตัดสินใจได้ว่า ต้องการมีลูกหรือไม่ และถ้ามี จะมีกี่คน เมื่อไหร่ และกับใคร ผู้หญิงควรสามารถใช้ชีวิตได้ โดยไม่ต้องหวาดกลัวความรุนแรงจากเพศสภาพ รวมถึงการถูกข่มขืนและความรุนแรงทางเพศอื่น ๆ เช่น การขลิบทำลายอวัยวะเพศหญิง ตลอดจนการบังคับให้แต่งงาน ตั้งครรภ์ ทำแท้ง หรือทำหมัน แต่หนทางยังอีกยาวไกลกว่าที่ผู้หญิงทุกคนจะสามารถมีสิทธิดังกล่าวนี้ได้
ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วโลกจำนวนมาก ยังไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายได้ ในหลายประเทศ ผู้ที่ต้องการหรือจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์กลับต้องตกอยู่บนทางสองแพร่งที่อันตรายระหว่างการต้องเสี่ยงชีวิตกับการเข้าคุก
ในอาร์เจนตินา แอมเนสตี้ ได้รณรงค์ร่วมกับนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ทำงานเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายทำแท้งที่เข้มงวดของประเทศ แม้จะเกิดความก้าวหน้าที่สำคัญ แต่ก็ยังมีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางกฏหมาย ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตนเองได้
นอกจากนี้ เรายังได้รณรงค์อย่างประสบความสำเร็จในประเทศไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ทำให้มีการยกเลิกความผิดอาญาต่อการทำแท้งเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่แอมเนสตี้ และองค์กรด้านสิทธิอื่น ๆ ได้พยายามล็อบบี้กดดันมาเป็นเวลาหลายสิบปีในโปแลนด์ แอมเนสตี้ได้ร่วมลงชื่อในถ้อยแถลงเพื่อประท้วงร่างกฎหมาย “หยุดการทำแท้ง” ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรสิทธิสตรีมากกว่า 200 องค์กร
ส่วนในประเทศเกาหลีใต้ ก็มีความก้าวหน้าในด้านสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์หลังจากที่ แอมเนสตี้และองค์กรด้านสิทธิอื่น ๆ รณรงค์มาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยนำไปสู่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ที่สั่งให้รัฐบาลยกเลิกความผิดอาญาต่อการทำแท้งภายในประเทศ และให้ปฏิรูปกฎหมายทำแท้งที่เคยเข้มงวดมากให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2020
ส่วนในจอร์แดน แอมเนสตี้ได้กระตุ้นให้ทางการหยุดเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ต่อระบบคุ้มครองผู้ชาย ซึ่งเป็นโทษต่อผู้หญิงด้วยการควบคุมชีวิตและจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้หญิง รวมถึงการกักขังผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าออกจากบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือมีเพศสัมพันธ์นอกการแต่งงาน และการบังคับให้ต้องผ่านการทดสอบพรหมจรรย์อย่างน่าอับอาย
เสรีภาพในการเดินทาง
เสรีภาพในการเดินทาง คือสิทธิที่จะไปในที่ต่าง ๆ ได้อย่างอิสระตามที่ต้องการ ไม่เพียงแค่ในประเทศที่อาศัยอยู่ แต่รวมถึงการไปเยือนประเทศอื่นด้วย แต่ผู้หญิงจำนวนมากประสบกับความยากลำบากอย่างแท้จริงในเรื่องนี้ เพราะอาจไม่ได้รับอนุญาตให้มีหนังสือเดินทางของตนเอง หรือต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองที่เป็นชายก่อนถึงจะเดินทาง ได้
ตัวอย่างเช่น ในซาอุดิอาระเบีย เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการรณรงค์ให้ผู้หญิงขับรถได้สำเร็จ หลังจากที่ถูกห้ามมาก่อนหน้านี้เป็นระยะเวลาหลายสิบปี แต่แม้จะเกิดความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์นี้ แต่ทางการก็ยังตามรังควานและกักขังนักกิจกรรมสิทธิสตรีจำนวนมากเพียงเพราะเรียกร้องสิทธิของตนโดยสงบ
สตรีนิยมกับสิทธิผู้หญิง
เมื่อพูดถึงสิทธิผู้หญิง การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสตรีนิยมก็เป็นประโยชน์เช่นกัน โดยหลักใหญ่ใจความแล้ว สตรีนิยม ก็คือ ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สตรีนิยมมุ่งมั่นที่จะทำให้ผู้หญิงสามารถใช้สิทธิของตนได้อย่างสมบูรณ์เท่าเทียมกับผู้ชาย
สตรีนิยมแบบอำนาจทับซ้อน[1]
สตรีนิยมแบบอำนาจทับซ้อน คือ แนวความคิดว่าคน ๆ หนึ่งอาจถูกเลือกปฏิบัติได้ด้วยหลายสาเหตุที่ทับซ้อนและตัดขวางซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุด้านเชื้อชาติ เพศ เพศวิสัย อัตลักษณ์ทางเพศ ชนชั้นทางเศรษฐกิจ และความพิการ และสาเหตุอื่น ๆ วิธีหนึ่งในการทำความเข้าใจเรื่องนี้คือการมองจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง เช่น งานวิจัยของเราในโดมินิกา พบว่าพนักงานบริการทางเพศผู้หญิงที่มักเป็นผู้หญิงผิวสีหรือผู้หญิงข้ามเพศหรือทั้งสองอย่างมักถูกทรมานและตามรังควานจากตำรวจ
สิทธิผู้หญิงถูกละเมิดได้อย่างไร
ความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพ
ความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพ อาจรวมถึง
ความรุนแรงจากเพศสภาพ
ความรุนแรงจากเพศสภาพ คือ ความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยเหตุแห่งเพศวิสัย อัตลักษณ์ทางเพศ หรือลักษณะทางเพศ ความรุนแรงจากเพศสภาพมักเกิดกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างเกินสัดส่วน
ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในพื้นที่ความขัดแย้งตกอยู่ในความเสี่ยงมากเป็นพิเศษต่อความรุนแรง และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความรุนแรงทางเพศถูกใช้เป็นอาวุธสงครามอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เราได้บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับจำนวนผู้หญิงที่หลบหนีจากการโจมตีของกลุ่มโบโกฮารัมในไนจีเรียที่กลับต้องประสบกับความรุนแรงทางเพศและการข่มขืนโดยทหารไนจีเรีย
จากจำนวนผู้หญิงทั่วโลกที่เคยมีความสัมพันธ์ มี 30% ที่เคยประสบกับความรุนแรงทางร่างกายและ/หรือทางเพศจากคู่ของตน นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีความเป็นไปได้ที่จะตกเป็นเหยื่อการประทุษร้ายทางเพศรวมถึงการข่มขืนมากกว่าเพศชาย และมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะตกเป็นเหยื่อของ “อาชญากรรมเพื่อศักดิ์ศรี”
ความรุนแรงต่อผู้หญิงนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงจากเพศสภาพ และการถูกทารุณกรรมภายในครอบครัว
ความรุนแรงทางเพศและการคุกคามทางเพศ
การคุกคามทางเพศ หมายถึง พฤติกรรมทางเพศใด ๆ ที่ไม่เป็นที่ต้องการ ซึ่งอาจเป็นการกระทำและการเข้าหาทางร่างกาย การเรียกร้องหรือขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย หรือการใช้ภาษาด้านเพศที่ไม่เหมาะสม
ความรุนแรงทางเพศ คือ การที่มีผู้ถูกประทุษร้ายร่างกายในทางเพศ แม้ว่าผู้ชายและเด็กผู้ชายก็อาจตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศได้ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสกว่าคือผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
การเลือกปฏิบัติในการทำงาน
ผู้หญิงมักถูกเลือกปฏิบัติจากเพศสภาพในการทำงาน วิธีที่ช่วยทำให้เห็นภาพ คือ การดูที่ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง การได้รับค่าจ้างเท่ากันสำหรับการทำงานเดียวกันเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง แต่ผู้หญิงมักจะไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและเท่าเทียมอยู่อย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตัวเลขเมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงได้รับค่าจ้างประมาณ 77% ของค่าจ้างที่ผู้ชายได้รับจากการทำงานเดียวกัน การเลือกปฏิบัตินี้นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางการเงินตลอดชั่วชีวิตของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระได้เต็มที่ และเสี่ยงต่อความยากจนสูงยิ่งขึ้นในภายหลัง
การเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุเพศวิสัยและอัตลักษณ์ทางเพศ
ในหลายประเทศทั่วโลก สิทธิของผู้หญิงถูกปฏิเสธด้วยเหตุแห่งเพศวิสัย อัตลักษณ์ทางเพศ หรือลักษณะทางเพศ โดยผู้หญิงที่เป็นหญิงรักหญิง รักสองเพศ ข้ามเพศ อินเตอร์เซ็กซ์ และไม่อยู่ในกรอบเพศ ต้องประสบกับความรุนแรง การกีดกัน การคุกคาม การรังควาน และการเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ หลายคนยังประสบความรุนแรงขั้นร้ายแรง ซึ่งรวมถึงความรุนแรงทางเพศ หรือสิ่งที่เรียกว่า “การข่มขืนให้หาย (จากการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ)” และ “การฆ่าเพื่อศักดิ์ศรี”
สิทธิผู้หญิงกับกฎหมายระหว่างประเทศ
อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ (1979) เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลัก ที่พูดถึงการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ และกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิสตรีอย่างเฉพาะเจาะจง
นอกจากนี้อนุสัญญาฉบับนี้ ยังถือเป็นคำประกาศสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในระดับนานาชาติ และกำหนดพันธกรณีต่อรัฐที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้ผู้หญิงสามารถมีสิทธิเหล่านี้ได้
อนุสัญญานี้มีรัฐให้สัตยาบันแล้วมากกว่า 180 รัฐ รวมถึงประเทศไทย
ทำไมการยืนหยัดเพื่อสิทธิสตรีจึงเป็นเรื่องสำคัญ
สิทธิของผู้หญิง คือ สิทธิมนุษยชน
แม้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่เราจะไม่สามารถมีสังคมที่มีเสรีภาพและความเท่าเทียมได้จนกว่าทุก ๆ คนจะมีเสรีภาพและความเท่าเทียม หากผู้หญิงยังไม่สามารถได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ชาย ความเหลื่อมล้ำนี้ก็จะยังเป็นปัญหาของคนทุกคน
การคุ้มครองสิทธิสตรีทำให้โลกนี้ดีขึ้น
สหประชาชาติกล่าวว่า “ความเท่าเทียมทางเพศและการสร้างอำนาจให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงไม่ใช่เป็นแค่เป้าหมายในตัวเอง แต่ยังเป็นกุญแจไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เสรีภาพ และความมั่นคง”
งานศึกษาที่ผ่านมายังแสดงให้เห็นความจริงที่ว่า สังคมจะดีขึ้นสำหรับทุกคน เมื่อสิทธิสตรีได้รับการปกป้องและเคารพอย่างจริงจัง
เราจะเข้มแข็งมากขึ้นถ้าร่วมมือกัน
แม้ว่าในขบวนการในระดับพื้นที่จะทำงานอย่างเข้มแข็งเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราทุกคนมาร่วมกันสนับสนุนสิทธิผู้หญิง เราก็จะมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ด้วยการร่วมทำงานกับนักกิจกรรมทั้งรายบุคคลในภาคสนาม ตลอดจนการรณรงค์พุ่งเป้าของเราเอง ขบวนการสิทธิ ดังเช่น แอมเนสตี้ เราก็สามารถเป็นหนึ่งในแนวหน้าของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีได้เช่นกัน
ประเด็นย่อย
My Body My Rights
แคมเปญ “ร่างกายของฉัน สิทธิของฉัน” (My Body My Rights) มีมาตั้งแต่ปี 2557 แคมเปญนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานง่าย ๆ ที่ว่า “ชายและหญิงมีสิทธิที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพ ร่างกาย เพศวิถี และการเจริญพันธุ์โดยปราศจากความหวาดกลัวหรือการถูกบังคับ”
Me too
ปี 2018 เป็นปีที่กระแส hashtag (#) “MeToo” ร้อนแรงต่อเนื่อง เพราะกรณีอื้อฉาวของฮาร์วี ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการฮอลลีวูด ที่ถูกนักหนังสือพิมพ์เปิดโปงพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศหญิงสาวในวงการ[2] อันที่จริงการเคลื่อนไหวในนาม Me Too ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว (ก่อนพวกเราจะมีแฮชแท็กใช้กันด้วยซ้ำ!) นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ทาราน่า เบิร์ก (Tarana Burke) ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงผิวสีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ภาครัฐมักมองข้ามและไม่ส่งความช่วยเหลือใด ๆ มาให้ โดยคำว่า Me Too นั้นมาจากการที่เบิร์กฟังประสบการณ์เลวร้ายของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งแล้วพูดอะไรไม่ออก เธอได้แต่คิดในใจว่า ‘Me Too’ หรือ ‘ฉันก็เหมือนกัน’ เพราะเธอเองก็มีประสบการณ์เลวร้ายไม่ต่าง[3]
ในปีเดียวกัน เมื่อศาสตราจารย์คริสทีน บลาซีย์ ฟอร์ด (Christine Blasey Ford) เปิดโปงผู้พิพากษา เบรทท์ คาวานอห์ (Brett Kavanaugh) เมื่อเดือนกันยายน ว่าเขาเคยมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศเธอสมัยเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียน การเปิดโปงครั้งนี้สั่นคลอนเส้นทางการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงของคนที่ทรัมป์เลือก ขบวนการ #metoo ยืนหยัดเคียงข้างศาสตราจารย์คริสทีนทันทีอย่างเข้มแข็งเพื่อปฏิเสธคาวานอห์ ไม่ยอมให้คนที่เคยคุกคามผู้หญิงดำรงตำแหน่งที่ต้องวินิจฉัยเรื่องสำคัญของประเทศ ส่งแรงกดดันหนักหน่วงไปยังทรัมป์ผู้ผลักดันเขา จนเกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมระลอกสองต่อจาก #metoo คือ #believesurvivor
หนึ่งในความโดดเด่นของ #metoo และ #believesurvivor คือการแสดงจุดยืนว่า ‘เราจะอยู่เคียงข้างกัน’ การประกาศว่าจะอยู่เคียงข้างกันเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายดาย แต่กลับเปล่งพลังจากแนวราบที่น่ามหัศจรรย์ สำหรับ #metoo การอยู่เคียงข้างกันทำให้ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อการใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกล้าก้าวออกมาจากเงื้อมเงาแห่งความอับอาย ปฏิเสธโครงสร้างสังคมที่เอื้อให้ผู้ชายแสวงหาประโยชน์จากพวกเธอ และสำหรับผู้หญิงซึ่งกำลังเผชิญสถานการณ์เลวร้ายในรูปแบบที่ต่างออกไป ลองคิดดูสิว่า การอยู่เคียงข้างกันจะนำมาซึ่งสิ่งใดได้บ้าง
นโยบายเกี่ยวกับการทำแท้ง
ภาพรวม
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รับรองสิทธิของผู้หญิง เด็กผู้หญิง หรือบุคคลอื่นที่สามารถตั้งครรภ์ได้ทุกคน ในการทำแท้งที่ให้บริการในลักษณะที่เคารพต่อสิทธิ ความเป็นเจ้าของตัวเอง ศักดิ์ศรี และความจำเป็นอย่างสอดคล้องกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต สถานการณ์ ความมุ่งหวัง และความคิดเห็นของบุคคลเหล่านั้น นโยบายการทำแท้งของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ยกเลิกความผิดอาญาโดยสิ้นเชิงต่อการทำแท้ง และให้ผู้ตั้งครรภ์ทุกคนสามารถเข้าถึงการทำแท้ง การดูแลหลังการทำแท้ง และการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้งที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ปราศจากอคติ การใช้กำลัง การบีบบังคับ การใช้ความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติ
แนวนโยบายเกี่ยวกับการทำแท้งของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยึดตามหลักการและถือกำเนิดจากมาตรฐานและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนที่มีมาอย่างช้านาน และตั้งอยู่บนความตระหนักที่ว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการทำแท้งนั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมถึงสิทธิในการมีชีวิต สุขภาพ ความเป็นส่วนตัว เสรีภาพและความมั่นคงของบุคคล ความเท่าเทียมและการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย สิทธิที่จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มตัว สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้าย สิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ปราศจากอคติ และสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ นโยบายฉบับนี้มองการทำแท้งว่าเป็นองค์ประกอบหลักของการดูแลสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ (ซึ่งครอบคลุมถึงการดูแลหลังการทำแท้ง วิธีคุมกำเนิดสมัยใหม่ และข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการทำแท้งที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ปราศจากอคติ) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุถึงความเท่าเทียมที่แท้จริง
วิสัยทัศน์
กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการทำแท้งจะต้อง
แอมเนสตี้เรียกร้องอะไร
สถานการณ์เรื่องกฏหมายทำแท้งในประเทศไทย
อัปเดต ก.พ. 2564
จาก ILAW
เปิดกฎหมายอาญาแก้ไขใหม่ #ทำแท้งปลอดภัย ได้ในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์
19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ชี้ว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ซึ่งกำหนดความผิดแก่หญิงที่ทำให้ตนเองแท้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และแนะนำให้แก้ไขกฎหมายภายใน 360 วัน จนกระทั่งบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูกก็ได้รับการแก้ไข เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานทำแท้งที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ให้หญิงสามารถทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดอื่น ๆ อันจะเอื้อประโยชน์แก่หญิงให้สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัยและไม่มีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้ง 7 กุมภาพันธ์ 2564
[1]ในเว็บหลักของ AI EN ใช้คำนี้ Intersectional Feminism เว็บ AI TH แปลเป็นสตรีนิยมภาคตัดขวาง ปัจจุบันมันไม่มีการระบุชัดเจนว่าใช้คำว่าอะไร แต่จากกลุมเฟมินิสม์ในไทยที่อ้างอิงมาจะใช้ใช้แบบนี้ ‘เฟมินิสม์แบบอำนาจทับซ้อน’ ที่มา https://spectrumth.com/2021/01/29/gender-talk-2-intersectionality-and-identity-politics-%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2-%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%9A/
[2] ไกลแค่ไหนจึงจะใกล้? ปรากฏการณ์ #MeToo กับบริบทสังคมไทย, สุธิตา วิมุตติโกศล https://themomentum.co/metoo-and-rape-culture/
[3]#MeToo แฮชแท็กที่เปลี่ยนข่าวฉาวของฮาร์วีย์ ไวน์สตีนให้เป็นการเคลื่อนไหวของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศทั่วโลก
, กันต์กนิษฐ์ มิตรภักดี https://adaymagazine.com/women-metoo