แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564/65 ซึ่งรวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2564 โดยให้ภาพรวมของห้าภูมิภาคและข้อมูลของแต่ละประเทศ ทั้งหมด 154 ประเทศและดินแดน รายงานชี้ให้เห็นว่าผู้นำทางการเมืองและบรรษัทยักษ์ใหญ่เห็นผลกำไรและอำนาจของตนสำคัญกว่าประชาชน ไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่จะฟื้นฟูอย่างเป็นธรรมภายหลังการระบาดใหญ่
แม้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอภิปรายถกเถียง เพื่อหาแนวทางรับมือกับปัญหาท้าทายนานัปการของโลก แต่หลายรัฐยังคงเพิ่มความพยายามในการปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ หน่วยงานด้านสื่อและผู้นำฝ่ายค้าน ต่างตกเป็นเป้าหมายการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การทรมานและการบังคับให้สูญหาย โดยหลายกรณีเกิดขึ้นด้วยการอ้างเหตุผลเกี่ยวกับโรคระบาด
มีอย่างน้อย 67 ประเทศที่ประกาศใช้กฎหมายใหม่ในปี 2564 เพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบและการสมาคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกควบคุมตัวโดยพลการในอย่างน้อย 84 จาก 154 ประเทศ แอมเนสตี้จะเปิดตัวโครงการรณรงค์ระดับโลก เพื่อเรียกร้องให้มีการเคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และเพื่อทวงคืนพื้นที่ของภาคประชาสังคมกลับคืนมา
งานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564/65 จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกในวันอังคาร ที่ 29 มีนาคม 2565 สำหรับประเทศไทย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ และ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเป็นตัวแทนมอบรายงานพร้อมทั้งข้อเรียกร้องถึงทางการไทย โดยมีเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบรายงานฉบับดังกล่าว
สำหรับประเทศไทยมีหลายประเด็นที่น่าห่วงใย เช่น สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพในการแสดงออก การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย การบังคับบุคคลให้สูญหาย สิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ เป็นต้น
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ลิงก์นี้ https://www.amnesty.or.th/latest/news/994/