เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้"นโยบายความเป็นส่วนตัว
กลางดึกของคืนวันที่ 11 มีนาคม 2565 ก่อนจะเข้าสู่วันที่ 12 มีนาคม นักกิจกรรมและสมาชิกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาคร่วมกันแสดงพลังใน วันครบรอบ 18 ปี การถูกบังคับให้สูญหายของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน “ทนายสมชาย นีละไพจิตร” ผ่านการติดโปสเตอร์รณรงค์เพื่อแสดงพลังในการยืนหยัดเคียงข้างนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิดสิทธิ อย่างร้ายแรงและเรียกร้องให้รัฐหรือผู้มีอำนาจคืนความเป็นธรรมแก่ครอบครัวของผู้เสียหายจากการถูกบังคับให้สูญหายอย่างมีประสิทธิภาพ
เป็นเวลา 18 ปีแล้วที่ครอบครัวทนายสมชาย ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอย่างไม่ทราบชะตากรรม และไม่มีแม้กระทั่งหลุมศพให้รำลึกถึง อังคณา นีละไพจิตร กล่าวว่า “การบังคับสูญหายไม่เพียงพรากใครบางคนไปตลอดกาล แต่ทำให้คนที่มีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น … ในขณะที่ปัญหาของรัฐเผด็จการ คือ ความกลัว แต่ในขณะที่กลัว รัฐก็มีอำนาจและอาวุธต่างๆ มากมาย และเจ้าหน้าที่รัฐบางคนก็ไม่เคยกลัวที่จะใช้มันเพื่อกำจัดคนที่บังอาจท้าทายอำนาจอันมิชอบของพวกเขา … การบังคับบุคคลสูญหายจึงมักเกิดขึ้นในบริบทนี้”
การค้นหาความจริงและความยุติธรรมกรณีการถูกบังคับให้สูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร ถือเป็น ‘บททดสอบสำคัญ’ ในแง่ของการเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมทั้งการให้การเยียวยาและการชดเชยเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความจริงใจหรือความสามารถของทางการไทยในการแก้ปัญหาลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่ละเมิดสิทธิ มนุษยชน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย
อังคณา นีละไพจิตร กล่าวเสริมว่า “18 ปีที่ชะตากรรมของสมชายยังคลุมเครือ 18 ปีที่รัฐปฏิเสธความรับผิดชอบ 18 ปีที่ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล 18 ปีที่การอุ้มหายยังไม่เป็นอาชญากรรมในประเทศไทย และกว่า 18 ปีที่รัฐยังใช้วิธีการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง … สังคมไทยจะอดทนได้อีกกี่ปีเพื่อยุติอาชญากรรมนี้”
สมชาย นีละไพจิตร เป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เป็นรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และเป็นคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายสภาทนายความ ก่อนหายตัวไป “ทนายสมชาย” ว่าความให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่อ้างว่าถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้รับสารภาพ จนกระทั่งในคืนวันที่ 12 มีนาคม 2547 ไม่มีใครพบทนายสมชายอีกเลยหลังจากที่แยกตัวกับเพื่อนทนาย ย่านรามคำแหง
หลังจากนั้นไม่นาน อัยการและครอบครัวนีละไพจิตรเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นตำรวจ 5 นาย โดย 1 ในนั้นคือตำรวจที่ลูกความของทนายสมชายกล่าวหาว่ากระทำการทรมานผู้ต้องสงสัย ในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกาตัดสินยกฟ้องคดีต่อตำรวจทั้ง 5 นาย โดยระบุว่าพยานหลักฐานขาดความน่าเชื่อถือ พร้อมกับไม่อนุญาตให้คุณอังคณาและลูกๆ เป็นโจทก์ร่วม จนถึงทุกวันนี้ชะตากรรมของทนายสมชาย ยังคงคลุมเครือและครอบครัวยังคงไม่ได้รับการเยียวยาทางกฎหมายจากกรณีนี้